x close

มาร์ค ห่วง รับตรง ฉุดปฏิรูปการศึกษา ล้มเหลว




"มาร์ค"ห่วง"รับตรง" ฉุดปฏิรูปศึกษา2เหลว (ไทยโพสต์)

           
นักวิชาการจี้เมืองแก้ปัญหารับตรง เผยนายกฯ ห่วงหากปล่อยไว้มีหวังฉุดปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ล้มเหลว จวกมหาวิทยาลัยรู้ดี แต่อยากหากินกับค่าสมัคร "ไชยยศ" เผยขอความร่วมมือ ทปอ.แล้ว แต่ถ้าทำไม่ได้ พร้อมใช้อำนาจรัฐมนตรีจัดการ

           รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 2 (กนป.) ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหาการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาว่า ทาง กนป. ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาทั้งการรับผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางหรือแอดมิชชั่น และระบบการรับตรงมาก รวมทั้ง กนป.เห็นตรงกันว่าถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้สำเร็จ

           นักวิชาการรายนี้กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยรู้ดีว่าการรับตรงเป็นการแย่งเด็ก หากินกับค่ารับสมัครและการสอบเข้า แต่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะรับเป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์รับตรง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่ไว้ใจกัน จึงเกิดความโกลาหลขึ้น และเชื่อว่าจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นทุกปี ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายการเมืองต้องแทรกแซง และต้องใช้ความกล้าหาญกำหนดทิศทางการรับเด็กของมหาวิทยาลัย โดยต้องจัดระเบียบการรับตรงให้ทุกแห่งสอบพร้อมกัน กำหนดอัตราขั้นต่ำค่าสมัคร เพราะรับตรงทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยค่าเฉลี่ยการสมัครรับตรงของเด็ก ประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อ 1 สถาบัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของการเมืองที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ สกอ. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ภาคประชาชน สื่อมวลชน ควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

           ด้านนายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอำนาจในการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาเป็นของมหาวิทยาลัยโดยตรง รัฐมนตรีไม่สามารถที่จะไปก้าวก่ายได้ แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่าเรามีปัญหาแอดมิชชั่นกลางและรับตรงจริงๆ ทั้งแอดมิชชั่นกลางที่ยังไม่สามารถที่จะทำให้มหาวิทยาลัยคัดเด็กได้ตรงตามความต้องการ จนมหาวิทยาลัยต้องหนีไปรับตรง

           ที่ผ่านมาตนพยายามขอความร่วมมือจาก ทปอ. ขอให้มีการปรับสัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆ ในการคัดเลือก จากนี้คงจะต้องรอดูว่า ทปอ.จะตัดสินใจอย่างไร และตนไม่ต้องการที่จะต้องมาบังคับใดๆ กับมหาวิทยาลัย แต่ถ้า ทปอ.ไม่ดำเนินการใดๆ ตนในฐานะ รมช.คงต้องหาวิธีที่จะช่วยเด็ก.



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาร์ค ห่วง รับตรง ฉุดปฏิรูปการศึกษา ล้มเหลว โพสต์เมื่อ 12 มกราคม 2554 เวลา 10:29:07
TOP