x close

แนะนำคณะ วิทยาศาสตร์ ม.มหิดล


คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 ประวัติ


          คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้รับการประกาศจัดตั้งเมื่อ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ให้เป็น "โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์" โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้น เพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์ และเตรียมประเภทวิชาอื่นๆ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยใช้สถานที่ที่ตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีแรก และย้ายมายังอาคารเรียนใหม่ ณ ถนนศรีอยุธยา ในปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2503 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดหลักสูตรการศึกษาในสาขาต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงระดับปริญญาตรี โท และเอก ในเวลาต่อมา

          ในปี พ.ศ. 2511 คณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้ย้ายสถานที่ตั้งมาพื้นที่บนถนนพระรามที่ 6 ตรงข้ามกระทรวงอุตสาหกรรม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดตึกทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนที่ดิน 40 ไร่ และงบประมาณร่วมกับมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ ก่อสร้างอาคารเรียน พร้อมอุปกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ใช้พระนามาภิไธย "มหิดล" เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัย และประกาศเป็น "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512" ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 1 มีนาคม 2512 และต่อมาได้มี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล" ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2512 คณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ใช้ชื่อใหม่เป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) 

          หลักสูตรวิทยาศาสตร์มีการจำแนกเป็นสาขาต่างๆ โดยมีภาควิชาเป็นผู้รับผิดชอบในการสอน นักศึกษามหิดลชั้นปีที่ 1 ทุกสาขา และทุกวิทยาเขต จะเรียนที่ศาลายา เมื่อขึ้นปีที่ 2 นักศึกษาจะแยกย้ายไปเรียนในสาขาเอกที่คณะวิทยาศาสตร์พญาไท 

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานการศึกษา สำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ โทร. 0-2201-5005, 5050-4 

          1. วท.บ. สาขาเคมี

          ภาควิชาเคมีรับผิดชอบหลักสูตร โดยให้เรียนรู้ทั้งเคมีพื้นฐาน และเคมีขั้นสูงที่ประยุกต์กับเทคโนโลยีต่างๆ ได้ นักศึกษาจะมีโอกาสปฏิบัติงานวิจัยในสาขาย่อยทางเคมี และศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาโท-เอก (นานาชาติ) ที่ภาควิชาจัดสอนได้ ใน 5 สาขา ได้แก่ เคมีอินทรีย์ เคมีเชิงฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงเคมี วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ และเคมีวิเคราะห์-เคมีอนินทรีย์ประยุกต์ 

          ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาเคมีที่ประกอบอาชีพในภาครัฐและเอกชน ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถทางวิชาการสูง สามารถพัฒนาความก้าวหน้าให้กับหน่วยงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ประกอบการเอง สาขาเคมีเป็นสาขาที่นักศึกษานิยมเลือกเรียนกันมาก

          2. วท.บ. สาขาฟิสิกส์

          ศึกษาเกี่ยวกับสสาร พลังงาน การเคลื่อนที่ การแปลงรูประหว่างพลังงานกับพลังงาน และพลังงานกับสสาร อันตรกิริยาระหว่างพลังงานกับพลังงาน และพลังงานกับสสาร การศึกษาทางฟิสิกส์จึงครอบคลุมกฎเกณฑ์ ของปรากฎการณ์ธรรมชาติอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งเป็นสาขาต่างๆ เช่น กลศาสตร์คลาสสิก ทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ทฤษฎีสัมพันธภาพ ทฤษฎีควอนตัม และฟิสิกส์เชิงสถิติ ความรู้เหล่านี้ สามารถนำมาผสมผสานจัดเป็นสาขาย่อย เช่น ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ธรณีฟิสิกส์ ฟิสิกส์การแพทย์ ฟิสิกส์เชิงชีววิทยา และอื่นๆ

          3. วท.บ. สาขาคณิตศาสตร์ 

          ภาควิชาคณิตศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์ ที่ให้ความรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์ ระดับมาตรฐานนานาชาติ รวมทั้งความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และความรู้ทั่วไป ที่ทำให้บัณฑิตมีความรู้รอบด้าน สามารถประยุกต์วิชาที่เรียนมา เพื่อใช้กับสิ่งรอบตัวได้ 

          บัณฑิตคณิตศาสตร์ นอกจากศึกษาต่อและทำงานในมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัยแล้ว ยังเป็นที่ต้องการในวงการเศรษฐกิจ และอื่นๆ อีกด้วย

          4. วท.บ. สาขาชีววิทยา 

          ภาควิชาชีววิทยา รับผิดชอบในหลักสูตร วท.บ. สาขาชีววิทยา ซึ่งศึกษาเรื่องสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาโครงสร้าง การทำงาน และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ ตั้งแต่ระดับโมเลกุล เซลล์ และศึกษาโครงสร้างระบบอวัยวะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งศึกษาบทบาทของระบบนิเวศ ผลกระทบของมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

          นอกจากนี้ ยังสอนในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการคิดสร้างสรรค์งานชีววิทยาระดับพื้นฐาน และชีววิทยาประยุกต์ งานวิจัยทางชีววิทยาครอบคลุมในหลายสาขา 

          5. วท.บ. สาขาพฤกษศาสตร์ 

          ภาควิชาพฤกษศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตร วท.บ. สาขาพฤกษศาสตร์ โดยสอนพื้นฐานที่สำคัญของพืช เช่น โครงสร้างภายนอก และภายในพืช การตั้งชื่อและจัดกลุ่มพืช การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ความสัมพันธ์ของพืชกับสิ่งแวดล้อม และพฤกษศาสตร์ประยุกต์ รวมทั้งศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน 

          ผู้สำเร็จการศึกษา สามารถทำงานได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์พรรณพืชของไทย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาไทย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอกได้

          6. วท.บ. สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ 

          ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพเปิดสอนหลักสูตร วท.บ. สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งนำความรู้ทางเคมี ชีววิทยา จุลชีววิทยา พันธุวิศวกรรมและชีวเคมี มาประยุกต์ร่วมกับความรู้ด้านวิศวกรรม นอกจากจะสอนวิทยาศาสตร์พื้นฐานแล้ว ยังเน้นการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในวิชาเฉพาะด้าน นักศึกษาจะมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติงานในหน่วยงานวิจัย และในโรงงานอุตสาหกรรมจริง

          เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ของภาควิชา ได้ใน 4 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร  เทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรม และวิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพทางโมเลกุลและการแพทย์  

          นอกจากนั้น ยังมีหลักสูตรพิเศษสำหรับระดับปริญญาตรี เพื่อการศึกษาต่อเนื่องไปจนถึงระดับปริญญาโท และปริญญาเอกด้วย จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรี-โทเร่งรัด วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคโนโลยีชีวภาพ) และการจัดการมหาบัณฑิต (การตลาด) และ หลักสูตรพิสิฐวิธาน และโครงการ B.Sc.-Ph.D.

 การศึกษาต่อระดับปริญญาตรี 

          คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับนักศึกษาวิทยาศาสตร์ หลักสูตรปกติที่พญาไท 300 คนต่อปี และหลักสูตรปกติที่กาญจนบุรี 4 หลักสูตร ประมาณ 120 คนต่อปี โดยมีการคัดเลือกในระบบต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

          1. ระบบการคัดเลือกกลาง (ระบบแอดมิชชัน) 

          เป็นการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ/หรือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทั้งนี้ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ส่วนกลางกำหนด การคัดเลือกใช้คะแนน GPAX และ GPA ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ใน 5 วิชา จากโรงเรียน และผลคะแนนจากการสอบ ONET และ ANET ตามสัดส่วนที่คณะต่างๆ ของทุกสถาบันและ ทปอ. ให้ความเห็นชอบ

          2. ระบบโควตา มหาวิทยาลัยมหิดล  

          มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการเองทั้งหมด ผู้สมัครจะต้องสมัครและสอบตามประกาศการรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลระบบโควตา ทั้งนี้ ระบบโควตาจำแนกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 

          โควตาวิทยาเขต

          เป็นโครงการรับสมัครนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีส่วนในการเป็นเจ้าของและมีส่วนในการคัดเลือกนักศึกษา ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติทั่วไป คุณสมบัติทางการศึกษา ตามเกณฑ์ของส่วนกลาง และคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น 

          1. กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีที่สมัคร และเรียนชั้น ม.4-6 ในโรงเรียนของภูมิภาคต่างๆ ดังนี้ 
          - กลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี 
          - กลุ่มนครสวรรค์ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ 
          - กลุ่มอำนาจเจริญ ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร ร้อยเอ็ด 
          - โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม * 

          2. มีคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ชั้น ม.4-6 ไม่ต่ำกว่า 2.75 และมีคะแนนในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 2.75 

          * นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก มีสิทธิ์ได้รับทุนในโครงการศรีตรังทอง-สวทช. 

          โควตาพื้นที่-โครงการ พสวท.

          เป็นโควตาที่ให้กับผู้ที่สนใจรับทุนการศึกษาในโครงการ พสวท. จำนวน 10 คน ต่อปี โครงการ พสวท. เป็นโครงการที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี-โท-เอก ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีจะต้องศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (ยกเว้นสาขาทางเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ และคอมพิวเตอร์) เมื่อจบการศึกษาจะต้องปฏิบัติงานใช้ทุนในภาครัฐ เป็นเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่รับทุน ศูนย์ พสวท. มหาวิทยาลัยมหิดล รับสมัครร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในระบบโควตา ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามเกณฑ์ของส่วนกลาง และมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น 

          1.กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษาที่สมัคร และเรียนชั้น ม.4-6 ในโรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือเขตจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ ลพบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง หรือสระแก้ว 
          2.มีคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้นมัธยมปลาย (ม.4-6) ไม่ต่ำกว่า 3.00 และคะแนนเฉลี่ยหมวดวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ไม่ต่ำกว่า 3.25 
          3.มีความตั้งใจศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือคณิตศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี และจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก ทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ตามที่โครงการกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ 
          4.ระหว่างที่ศึกษาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ หากไม่ปฏิบัติตาม หรือลาออกจากโครงการ จะยินยอมชดใช้เงินทุนเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนที่โครงการจ่ายไป 

          โควตาโครงการพิเศษ-โครงการศรีตรังทอง

          เป็นโควตาที่ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาเอกกับนักเรียนทั่วประเทศ จำนวนทุนศรีตรังทอง 50 คนต่อปี โครงการศรีตรังทองให้ทุนการศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี โดยไม่มีข้อผูกพันหลังจบการศึกษา และเรียนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์สาขาเอกใดก็ได้ เมื่อเรียนในหลักสูตรพิสิฐวิธาน จะได้รับทุนการศึกษาต่อ ในระดับปริญญาเอกอีก 3 ปี ผู้สนใจสมัครได้ในการรับสมัครของมหาวิทยาลัยมหิดลในระบบโควตา ทั้งนี้ นักเรียนทั่วประเทศมีสิทธิ์สมัครในโควตาศรีตรังทองในจำนวนรับ 50 คน 

          สำหรับนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่สมัครในโควตาวิทยาเขต ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรก มีสิทธิ์ได้รับทุนในโครงการศรีตรังทอง-สวทช. ด้วย ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามเกณฑ์กลาง และมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น 

          1. กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายชั้นปีที่ 6 ในปีการศึกษาที่สมัคร โดยนักเรียนทั่วประเทศมีสิทธิ์สมัคร 
          2. มีคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้นมัธยมปลาย (ม.4-6) ไม่ต่ำกว่า 3.00 
          3. ระหว่างที่ศึกษาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการฯ หากไม่ปฏิบัติตาม หรือลาออกจากโครงการจะต้องชดใช้เงิน เป็นสองเท่าของที่โครงการจ่ายไป 

          โควตาส่งเสริมความถนัดทางวิชาชีพ

          จำนวนรับ 100 คนต่อปี เป็นโควตาที่ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ที่มีคุณสมบัติทั่วไปตามเกณฑ์กลาง และมีคุณสมบัติเพิ่มเติม ได้แก่ 

          1.มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และจะศึกษาจนจบหลักสูตรโดยไม่ลาออก หรือเปลี่ยนคณะหรือสถาบัน 
          2.มีคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้นมัธยมปลาย (ม.4-6) ไม่ต่ำกว่า 2.75 
          3.มีความสนใจและติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ 

          3.  โครงการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย)  

          ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดตั้ง ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ขึ้นเพื่อให้ทุนแก่นิสิต นักศึกษาวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก อย่างต่อเนื่อง ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 สถาบัน โดยกำหนดศูนย์มหาวิทยาลัยดำเนินการไว้ 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จำนวนรับทั้งหมด 200 ทุนต่อปี (จำนวนอาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะแจ้งให้ทราบก่อนรับสมัคร)
อนึ่ง โครงการในระยะที่ 1 (ปี 2545-52) ให้ทุนระดับปริญญาตรี 4 รุ่น (ถึงปี 2548) สำหรับระยะที่ 2 (ปี 2550-2565) กำลังรอเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ได้รับทุนระดับปริญญาตรี-โท-เอก เมื่อได้รับความเห็นชอบ จะประกาศรับสมัครผ่านศูนย์มหาวิทยาลัยของภูมิภาคนั้น ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องเรียนชั้น ม.4-6 ในโรงเรียนของภูมิภาคนั้นด้วย ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลโครงการฯ ได้ที่มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์

          สอบถามข้อมูลและปรึกษาปัญหา เกี่ยวกับการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ได้ที่ 

          ฝ่ายการศึกษา
          พญาไท :
ห้อง K-133 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 
          คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
          ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 
          โทรศัพท์: 02-201-5050-4 โทรสาร: 02-354-7143 

          ศาลายา : ห้อง SC3-203 ตึกวิทย์ 3 คณะวิทยาศาสตร์ 
          มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา จ. นครปฐม 73170
          โทรศัพท์: 02-441-9323 โทรสาร: 02-441-9322 

          วิทยาเขตกาญจนบุรี : โทรศัพท์ - โทรสาร: 034-585-058-77 

          Website : http://www.sc.mahidol.ac.th/sced 
          e-mail : scnnc@mahidol.ac.th
 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะนำคณะ วิทยาศาสตร์ ม.มหิดล อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2556 เวลา 16:36:38 7,607 อ่าน
TOP