x close

กองทุนพัฒนาสื่อฯ ชวน นร.-นศ. ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน



            กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดงานแถลงข่าวการประกวดหนังสั้น ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

            เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน 2561 ผู้สื่อข่าวกระปุกดอทคอม รายงานว่า ที่ห้องประชุม HEN อาคาร E88 (W-District) พระโขนง กรุงเทพฯ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดงานแถลงข่าวการประกวดหนังสั้น ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเสวนา “ทำหนังสั้นอย่างไร...ให้ได้รางวัล” โดยนายณัฐศักดิ์ พลศรี อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายพัฒนะ จิรวงศ์ นักเขียนบทและผู้กำกับ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคดี ๆ ในการผลิตหนังสั้นที่ดีและมีคุณภาพ

            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การประกวดหนังสั้นดังกล่าว เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัลที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ ให้การสนับสนุนมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวในด้านทักษะรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสื่อออนไลน์ผิดกฎหมาย สื่อที่เป็นภัยต่อสังคม ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสื่อดีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ กิจกรรมการประกวดจึงเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสื่อที่ปลอดภัย สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

            “พวกเราไม่ปฏิเสธความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทุกวันนี้เราดำเนินชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน หากไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างฉลาดรู้เท่าทันแล้วก็อาจขาดสมดุลและส่งผลกระทบต่อชีวิต ทำอย่างไร เราจะอยู่กับเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ทำอย่างไร เราจะใช้อุปกรณ์ในมืออย่างแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนในการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมจะต้องช่วยกันคิดและลงมือทำทันที ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีที่ปรารถนา” นายวสันต์ กล่าว

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

            นางสาวสุพิชฌาย์ ชัยธัมมะปกรณ์ หัวหน้าโครงการประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมว่า ต้องการเพิ่มปริมาณสื่อดีในเมืองไทย ซึ่งหนังสั้นเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สังคมมากที่สุด และเป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนไทยให้ความสนใจมากที่สุด

            สำหรับหัวข้อการประกวดในปีนี้ เป็นเรื่องของการหยุดความรุนแรงทุกรูปแบบบนโลกออนไลน์ที่มีต่อเด็ก รับผลงานร่วมประกวดถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 เท่านั้น โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบให้ทีมชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับถัดลงมา จะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท และ 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศตามลำดับ

            มีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ซึ่งผลงานดีเด่นจากการประกวดทั้งหมดจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงแจกจ่ายใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วย

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

            ในช่วงการเสวนา นายณัฐศักดิ์ พลศรี อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวแนะนำน้อง ๆ เกี่ยวกับการทำภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์ที่ดีจะประกอบด้วยสามองค์ประกอบเป็นอย่างน้อย อันแรกคือ ภาพดี เพื่อที่จะสื่อความหมาย ถ่ายทอดความคิด อันที่สองคือ เสียงดี คำพูดได้ยินชัดเจน เพื่อสื่อสารอารมณ์ให้ได้ และอีกอย่างคือ บทดี กล้านำเสนอ และจะต้องสร้างคุณค่าให้แก่สังคม

            ด้านนายพัฒนะ จิรวงศ์ นักเขียนบทและผู้กำกับ กล่าวว่า ภาพยนตร์คือการสื่อสารระหว่างผู้สร้างกับผู้ชม เป็นการสื่อสารผ่านภาษาภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่ดีจึงเป็นภาพยนตร์ที่สามารถสื่อสารเนื้อหาหรือบทภาพยนตร์ได้อย่างเข้าใจ แต่เหนืออื่นใดภาพยนตร์ยังเป็นศิลปะ การสื่อสารที่ตรงประเด็นนั้นจึงควรเป็นศิลปะด้วย นั่นคือการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้จินตนาการผ่านพื้นที่และเวลาของภาพ เสียง และการตัดต่อ เพื่อที่ว่านอกจากจะให้ผู้ชมเข้าใจแล้ว ยังทำให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกด้วย

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

            สำหรับ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา, นิสิต นักศึกษา หรือระดับเทียบเท่าอุดมศึกษา ที่มีความสนใจส่งผลงานเข้าประกวด สามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์เพื่อรับหมายเลขทีมได้ที่ https://goo.gl/forms/9JLFTzyAhYUOcouq1 ติดตามข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เฝ้าระวังสื่อร้าย ขยายสื่อดี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โทร. 02-8601358 คุณสุพิชฌาย์ โทร. 088-2439189 หรืออีเมล supidcha.c@hotmail.com

            ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้กล่าวเปิดงานแถลงข่าวการประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจทั้งหมด ดังนี้

โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

            ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานในงานแถลงข่าวการประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการเสวนา “ทำหนังสั้นอย่างไร...ให้ได้รางวัล” ในวันนี้

            กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างความฉลาดในการใช้สื่อดิจิทัล ที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้การสนับสนุนอยู่ โครงการนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลาย ๆ ด้านของกองทุน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในทักษะรู้เท่าทันสื่อ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อดีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสื่อที่ปลอดภัย สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

            พวกเราคงไม่ปฏิเสธว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทุกวันนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตและเปลี่ยนแปลงโลก เราทุกคนมีสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนรูปแบบของการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกิจ การศึกษา และวิถีชีวิตของเราจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ชีวิตเราล้อมรวมด้วยข้อมูลสารสนเทศจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าหาจากทุกทิศทาง เราดำเนินชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน หากไม่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างฉลาดรู้เท่าทันแล้วก็อาจขาดสมดุลในชีวิตและมีปัญหา

            ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการใช้สื่อดิจิทัลในบ้านเราทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงในการใช้สื่อออนไลน์ ได้แก่ การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย เช่น สื่อลามกอนาจาร การพนัน และความรุนแรงต่าง ๆ การติดต่อพูดคุยและนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การเสพติดเกมและอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดผลกระทบต่อการเรียน สังคม และสุขภาพ การเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายและขาดวิจารณญาณในการเสพสื่อทำให้หลงเชื่อหรือเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การเล่นพนัน เสพยา ใช้ความรุนแรง บริโภคนิยม การส่งต่อหรือแชร์เนื้อหาข้อมูลที่เป็นเท็จ ผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม ก็เท่ากับกระทำผิดกฎหมายด้วย เกิดการกระทำซ้ำกับเหยื่อ ส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมในวงกว้าง

            ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนลุกขึ้นมาเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายเสียเอง เช่น การถ่ายภาพ/คลิปวิดีโอ/ถ่ายทอดสดภาพโป๊เปลือยของตนเอง (self generated content) การกลั่นแกล้งเพื่อนทางออนไลน์ (cyber bullying) การด่าทอหรือชกต่อยตบตีแล้วโพสต์ประจานกันทางอินเทอร์เน็ต การตัดต่อภาพ การละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ

            ทำอย่างไร เราจะอยู่กับเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ทำอย่างไรเราจะใช้อุปกรณ์ในมืออย่างแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟนในการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมจะต้องช่วยกันคิดและลงมือทำทันที ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่เราปรารถนา

            ขณะนี้ กองทุนอยู่ระหว่างการเปิดรับข้อเสนอโครงการจากประชาชน ซึ่งมีวงเงินสนับสนุนในรอบนี้ประมาณ 240 ล้านบาท โครงการที่จะขอรับการสนับสนุน จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกลไก และกระบวนการคัดกรอง เฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งอาจจะเป็นโครงการด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว หรือกลุ่มเป้าหมายอื่น โครงการด้านการวิจัยขับเคลื่อนสังคม หรือโครงการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ

            ช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการเปิดรับข้อเสนอโครงการประจำปี 2561 เราจะปิดรับข้อเสนอในวันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561 เวลา 16.30 น.) ซึ่งยังพอมีเวลา ท่านใดที่สนใจ สามารถคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดและส่งข้อเสนอโครงการทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ของเรา www.thaimediafund.or.th

            เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่ทางมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับการประกวดหนังสั้นเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ ผมทราบมาว่า ผลงานดีเด่นจากการประกวดจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าถวายให้พระองค์ท่านได้ทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยด้วย จึงอยากเชิญชวนให้น้อง ๆ เด็กและเยาวชนร่วมส่งผลงานเข้ามามาก ๆ และผมหวังว่ากิจกรรมการประกวดในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณสื่อน้ำดี ช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนักสร้างสื่อสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีแนวคิดและหัวใจในการสร้างสื่อดี สื่อที่จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติของเราสืบไป

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน

ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กองทุนพัฒนาสื่อฯ ชวน นร.-นศ. ประกวดหนังสั้นชิงถ้วยพระราชทาน อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2562 เวลา 17:46:07 1,968 อ่าน
TOP