ผอ.บดินทรเดชาฯ แจงกติกาผี ชี้เป็นการให้โอกาสเด็กในพื้นที่ที่สิทธิไม่สมบูรณ์ได้สอบ เพราะไม่ใช่ความบกพร่อง และไม่ทำให้เกิดความแตกต่าง เรื่องคนมองเป็นช่องโหว่ ต้องแล้วแต่มุมมอง

วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 เพจอีจัน รายงานว่า
ดร.กล้าศักดิ์ จิตต์สงวน ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ได้ชี้แจงถึงประเด็นการรับนักเรียนเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
โดยผู้ปกครองได้ร้องเรียนว่ากฎระเบียบโรงเรียนบางข้อระบุคุณสมบัติที่ไม่เป็นธรรม
กฎข้อนี้คือสิทธินักเรียนในพื้นที่
โดยถ้าเด็กคนใดไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ (ไม่ได้มีบ้านอยู่ในพื้นที่บริการ)
แต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีถิ่นฐานอยู่ในเขตให้บริการจริง
ก็ให้สิทธิเทียบเท่าเด็กที่มีคุณสมบัติครบได้
ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการโรงเรียน
และจุุดนี้ทำให้ผู้ปกครองมองว่าเป็นช่องโหว่ และเป็น "กติกาผี"
สำหรับประเด็นนี้ ดร.กล้าศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างสมมติว่า ถ้ามีเด็กคนหนึ่งสมัครเข้าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แล้วที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน บ้านพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ แต่จบการศึกษาจากโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ในเขตพื้นที่เดียวกัน และผู้นำชุมชน รวมทั้งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. สามารถยืนยันได้ว่าจบจากที่นี่จริง และอาศัยอยู่กับญาติในแถว ๆ นี้ ทางโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็สามารถให้สิทธิเข้าสอบประเภทเด็กในเขตพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
แนวปฏิบัติดังกล่าวก็ใช้อยู่ทั้งใน สพฐ.
และเขตพื้นที่ ซึ่งทุกโรงเรียนก็ใช้แบบนี้เหมือนกันหมด
ทุกโรงเรียนทำตามแนวทางนี้อยู่แล้ว ไม่สามารถทำนอกเหนือจากแนวปฏิบัติได้
เรื่องการใช้ดุลยพินิจ ตนมองว่าเป็นการให้โอกาสเด็ก
กรรมการสามารถพิจารณาในเชิงมนุษยธรรม เพราะถ้าเด็กอยู่แถวนี้ แต่ไม่ได้เข้า
ม.1 แค่เพราะทะเบียนบ้านไม่ผ่าน การที่เขาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย
มันไม่ใช่ความบกพร่องของเด็ก

ด้วยความที่เด็กที่มีคุณสมบัติตามนี้ได้สิทธิเทียบเท่ากับเด็กในพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านไม่พอใจ และได้ไปร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรม เป็นกติกาผี และเบียดเบียนสิทธิของเด็กที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ในส่วนนี้ ดร.กล้าศักดิ์ กล่าวว่า กรณีนี้ไม่รู้ว่าเป็นกติกาผีหรือไม่ แต่สิทธิที่สมบูรณ์ตามนิยามของ สพฐ. คือ กลุ่มเอ เด็กที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเจ้าบ้านในพื้นที่ ในขณะที่ กลุ่มบี พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเจ้าบ้านจริง แต่อาจจะไม่ถึง 2 ปี สิทธิตามเขตพื้นที่จึงไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่าผ่าน โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จะให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้ สอบพร้อมกันในประเภทเด็กในเขตพื้นที่บริการ
การสอบจะเรียงลำดับคะแนนตามจำนวนที่เรารับในประกาศตามแผนรับนักเรียนของโรงเรียน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ส่วนเด็กกลุ่มอื่น กลุ่มทั่วไป
ก็สอบแยกไปตามปกติ สาเหตุที่ต้องให้สอบพร้อมกัน เพราะเมื่อผลสอบออกมา
แล้วมีเด็กที่สอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเอหรือบี แนวทางของ สพฐ. คือ
ให้เขตพื้นที่การศึกษาจัดสรรที่เรียนให้เด็กทั้งสองกลุ่ม
ดังนั้นจึงดูแลเฉพาะกลุ่มเอไม่ได้
เพราะเด็กกลุ่มบีก็นับว่าเป็นเด็กในพื้นที่ด้วย

ดร.กล้าศักดิ์
กล่าวต่อว่า สาเหตุที่มีการแบ่งสิทธิเด็กในพื้นที่
เพราะมีนโยบายให้เด็กเข้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก
การแบ่งแยกสิทธิสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ของเด็กในพื้นที่
มันจะมีผลแตกต่างกันต่อเมื่อโรงเรียนนั้น ๆ ยังใช้การจับฉลาก
โดยเด็กที่มีสิทธิสมบูรณ์ในเขตพื้นที่ เมื่อสอบไม่ผ่าน
ในวันต่อไปสามารถลงชื่อขอจับฉลากได้
จุดนี้ก่อให้เกิดการพยายามโอนทะเบียนบ้านเข้ามาภายใน 2 ปี
เพื่อใช้สิทธินี้ให้ได้ กรณีที่สอบไม่ผ่าน ทาง สพฐ. ไม่สามารถยกเลิกกฎนี้ได้
เพราะหลายโรงเรียนที่แข่งขันสูง ยังใช้ระบบจับฉลากอยู่
แต่ปัจจุบัน โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ยกเลิกระบบการจับฉลากไปนานแล้ว
ทุกอย่างเป็นไปตามการสอบอย่างเดียว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขอบคุณที่มาจาก