แนะนำคณะเทคนิคการแพทย์ มช.
เรียนอะไรในคณะเทคนิคการแพทย์ ?
คณะเทคนิคการแพทย์เปิดสอน 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชากายภาพบำบัด สาขาวิชากิจกรรมบำบัด สาขาวิชารังสีเทคนิค และ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
สาขาวิชากายภาพบำบัด
เป็นวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการป้องกัน รักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ที่มีความผิดปกติอันเนื่องมาจากโรคหรือการบาดเจ็บ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน แก้ไข รักษา และเพิ่มพูนสมรรถภาพร่างกายที่ผิดปกติให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี งานทางกายภาพบำบัดเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบกระดูกโครงร่างและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนโลหิต และระบบประสาททั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงการกระตุ้นพัฒนาการในกลุ่มเด็กพิเศษ การดูแลปัญหาสุขภาพสตรีและหญิงมีครรภ์ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งการดูแลและฟื้นฟูการบาดเจ็บทางการกีฬา
สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
เป็นวิชาชีพที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์การแพทย์ และศิลปศาสตร์ ไปประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และส่งเสริมฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจกรรม โดยดัดแปลง กิจกรรมจากกิจวัตรประจำวัน งานอาชีพ หรือกิจกรรมนันทนาการสำหรับใช้ในการฝึก ผู้พิการทางกาย เช่น อัมพาตครึ่งซีก หรือครึ่งท่อน แขนขาขาด ผู้ป่วยที่ผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคจิตซึมเศร้า จิตเภท และเด็กที่มีปัญหาด้านการพัฒนาการหรือสมองผิดปกติ เช่น เด็กปัญญาอ่อน เด็กเรียนรู้ช้า ตลอดจนถึงผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมตามวัย เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าตามระดับความสามารถ เป็นอิสระ และไม่เป็นภาระครอบครัว
สาขาวิชารังสีเทคนิค
เป็นวิชาชีพที่ว่าด้วยการใช้รังสีเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และได้ผล และเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ได้แก่ การถ่ายภาพเอกซเรย์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจหรือรักษา โดยใช้สารกัมมันตรังสี เช่น การตรวจ และรักษาโรค ต่อมไธรอยด์เป็นพิษและคอพอก การตรวจฝีในตับ การตรวจหาตำแหน่งการกระจายของมะเร็ง รวมทั้งการใช้รังสีรักษาโรค เช่น การฉายรังสีเอกซ์ แกมม่า หรืออิเล็กตรอน การใส่สารกัมมันตรังสีหรือฝังเข็มกัมมันตรังสีรักษามะเร็ง เป็นต้น
สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
เป็นวิชาชีพที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มาประยุกต์ใช้ทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยวินิจฉัย ติดตามอาการ และติดตามผลการรักษาโรค อาทิเช่น การตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ ส่วนประกอบและหน้าที่ของเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยโรคโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยมะเร็งเลือดขาว การตรวจของเหลวจากร่างกายโดยวิธีทางเคมี เช่น การตรวจความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด และปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้ยังมี การตรวจหาเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ รา จากสิ่งส่งตรวจบริเวณที่เกิดโรค และการตรวจทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การตรวจภูมิคุ้มกันโรคไข้ไทฟอยด์ และการตรวจหมู่เลือด เป็นต้น
เรียนจบแล้วทำอะไรได้บ้าง ?
ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะเทคนิคการแพทย์จะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาที่เลือกเรียน และประกอบอาชีพดังนี้
นักกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งในโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชน คลินิกกายภาพบำบัด โรงเรียนการศึกษาพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สโมสรการกีฬา สถานส่งเสริมสุขภาพ เช่น ศูนย์ออกกำลังกาย สปา รวมทั้งสามารถทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดในต่างประเทศ ผู้แทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาต่อเพื่อพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย และอาจารย์ได้
นักกิจกรรมบำบัด ให้คำแนะนำและการบำบัดรักษาบุคคลที่มีปัญหาทางกาย หรือทางจิตอารมณ์-สังคมในโรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เด็กปัญญาอ่อน และผู้สูงอายุ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทางจิตเวช, สถาบันกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
นักรังสีเทคนิค ปฏิบัติงานในหน่วยรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา หรือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้รังสี
นักเทคนิคการแพทย์ ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการชันสูตร และงานธนาคารเลือดของ โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยวินิจฉัย ติดตามอาการ และติดตามผลการรักษาโรค หรือทำหน้าที่ในห้องปฏิบัติการควบคุม คุณภาพในโรงงานผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น โรงงานผลิตนม และผลิตภัณฑ์จากนม โรงงานผลิตเครื่องสำอาง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกสาขาวิชาสามารถดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุเคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ทุกชนิด เป็นนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ หรืออาจารย์ในสถาบันทางการแพทย์ และสถาบันอุดมศึกษา หรือเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้
ทุนการศึกษา
คณะเทคนิคการแพทย์ มีแหล่งทุนสนับสนุนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในการศึกษา ดังนี้
1. ทุนการศึกษาที่จัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน และผู้มีจิตศรัทธา
2. ทุกฝึกงานนอกสถานที่สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4
3. ทุนทำงานพิเศษ นักศึกษาที่เข้ามาทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนชั่วโมง 25 บาท
สอบถามเพิ่มเติม
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทรศัพท์ 053- 94-5075
โทรสาร 053- 94-5075
http://www.ams.cmu.ac.th/