กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดอบรมเพิ่มศักยภาพแม่พิมพ์โรงเรียนอีโคสคูลทั่วประเทศ ถอดแนวทางการเรียนฟินแลนด์ สร้างจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมเยาวชนยุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดฝึกอบรมพัฒนาและเสริมศักยภาพครูและบุคลากรของโรงเรียนอีโคสคูล เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนอีโคสคูลทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจขั้นตอนกระบวนการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้กระบวนการสิ่งแวดล้อมโดยมี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วย นาง ซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การเรียนการสอนของฟินแลนด์ตามหลักสูตรใหม่ของฟินแลนด์" โดยมีตัวแทนครูจากโรงเรียนโครงการ Eco School ทั่วประเทศกว่า 100 คนเข้าร่วมการอบรม
นายรัชฎา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งให้โรงเรียนลดการสอนเนื้อหาที่ไม่จำเป็นลง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ใน 4 ด้านเพิ่มขึ้นคือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา จึงทำให้โครงการโรงเรียนอีโคสคูล เป็นทางเลือกหนึ่งของโรงเรียนในการดำเนินงานตามนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้มีแผนการสนับสนุนโรงเรียนอีโคสคูลในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรของโรงเรียนผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้โรงเรียนอีโคสคูลโดยการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา
1. นโยบายสิ่งแวดล้อมศึกษาและโครงการบริหารจัดการ
2. การจัดกระบวนการเรียนรู้
3. การจัดกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
4. การมีส่วนร่วมและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา
ซึ่งรูปแบบในการพัฒนาโรงเรียนจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของโรงเรียนและชุมชนโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผู้เรียนให้เป็น "พลเมืองสิ่งแวดล้อม" และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนพันธกิจที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาของโรงเรียนที่เน้น community based และ problem based Learning ผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ 7 ขั้นตอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงจัดทำโครงการฝึกอบรมพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพครูของโรงเรียนอีโคสคูลขึ้น เพื่อให้การจัดทำแผนการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นทั่วประเทศไทย
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโครงการโรงเรียนอีโคสคูล เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสิ้นจำนวน 177 โรงเรียนซึ่งสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการอีโคสคูล เป็นกลไกสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนที่เชื่อมโยงและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจนกลายเป็นโรงเรียนของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเด็กนักเรียนที่ผ่านการเรียนรู้จะเกิดทักษะในชีวิตในด้านต่าง ๆ ทำให้พวกเขาเรียนรู้อย่างเท่าทันและปรับตัวที่จะอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะโดยไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวและยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินการโครงการ
ด้าน นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลักการศึกษาของประเทศฟินแลนด์เป็นหลักการง่าย ๆ บนแนวคิดสิ่งแวดล้อมรอบตัวคือวิทยาศาสตร์ คือการเน้นให้นักเรียนมีความรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คุณครูวิทยาศาสตร์มักจะใช้คำถามง่าย ๆ เช่น ร้านอาหารเย็นนักเรียนล้างจานที่มีคราบไขมันด้วยน้ําเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ ? ซึ่งคำถามแบบนี้จะช่วยนำไปสู่การพูดคุยซักถามในประเด็นด้านเคมีชีววิทยาและรวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศฟินแลนด์ รวมถึงวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เป็นการศึกษาแบบผสมผสานตามหลักการ phenomena based Learning หรือแนวคิดการเรียนรู้จากเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์