x close

ทำความรู้จักคณะเภสัช มหิดล





คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

           คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดิมชื่อ "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" จัดตั้งขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2511 ตามนโยบายและโครงการของรัฐบาลในแผนกพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย พ.ศ.2510-2514 ในด้านการแพทย์ ซึ่งจะต้องเพิ่มการผลิตเภสัชกร ประกอบกับขณะนั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

           มีคณะเภสัชศาสตร์อยู่เดิมแล้วคณะหนึ่ง ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดชื่อคณะเภสัชศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ที่ถนนศรีอยุธยา ตำบลพญาไท ว่าคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท และ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 11 ตุลาคม พ . ศ .2511 ให้นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท อีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2511 และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้แต่งตั้งอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ตำแหน่งอาจารย์ เอก ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม และรักษาการเลขานุการคณะของคณะเภสัชศาสตร์เดิมให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย 

           ใน พ . ศ . 2512 มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนาม "มหิดล" ให้เป็นชื่อมหาวิทยาลัย โดยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ . ศ . 2512 และคณะเภสัชศาสตร์เดิมที่อยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โอนเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ . ศ . 2515 มหาวิทยาลัยมหิดล เหลือคณะเภสัชศาสตร์อยู่คณะเดียว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 ภาควิชา

           คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมี 10 ภาควิชา และ 1 ศูนย์การศึกษาดังนี้

           - ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม
           - ภาควิชาอาหารเคมี
           - ภาควิชาชีวเคมี
           - ภาควิชาจุลชีววิทยา
           - ภาควิชาเภสัชกรรม
           - ภาควิชาสรีรวิทยา
           - ภาควิชาเภสัชวิทยา
           - ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย
           - ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์
           - ภาควิชาเภสัชเคมี
           - สำนักงานข้อมูลสมุนไพร


 หลักสูตรการศึกษา

การศึกษาระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี)


           คณะเภสัชศาสตร์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรชั้นนำด้านเภสัชศาสตร์ในระดับ ปริญญาตรี โดยนักศึกษาจะต้องศึกษาครบ 6 ปี และจำนวนหน่วยการเรียนต้องไม่ต่ำกว่า 225 หน่วยกิตจึงจะสำเร็จการศึกษาได้

           สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นลักษณะที่มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และต้องมีชั่วโมงในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทั้งหมด 2,000 ชั่วโมงครอบคลุมทั้งในด้าน เภสัชโรงพยาบาล และ เภสัชอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาและฝึกสอนในเรื่องที่จำเป็นด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการรักษาพยาบาล เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในเรื่องดังกล่าวอย่างดียิ่งเพื่อที่นักศึกษาจะสามารถสำเร็จการศึกษา ไปประยุกต์ใช้กับวิชาชีพของตนได้เป็นอย่างดี เช่น การวิเคราะห์ยา, การคำนวณสูตรยา, การแนะนำและจ่ายยาแก่คนไข้, การใช้ยาอย่างถูกต้อง และการใช้พืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น.

การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา(ปริญญาโท-ปริญญาเอก) 

           คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาหลากหลายสาขาวิชา เพื่อตอบสนองควาต้องการของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพสูงในสายงานวิชาชีพเภสัชกรรม โดยปัจจุบันได้มีหลักสูตรนานาชาติ (International) เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนักศึกษาสามารถใช้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของคณะได้ อาทิ ห้องสมุดซึ่งเต็มไปด้วยตำราทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ห้องคอมพิวเตอร์ หน่วยคลังข้อมูลยา หน่วยข้อมูลสมุนไพร และสวนสิรีรุกขชาติ 

           การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งใน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทำให้บัณฑิตที่จบจากคณะเภสัชศาสตร์เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในวงการวิชาชีพเภสัชกรรมเสมอมา ทั้งในหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐและเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา

           การเข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโท

           ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ , สาขาวิชาเคมี หรือสาขาวิชาชีววิทยา จากสถาบันฯในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 หรือ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 75 % ผู้สมัครต้องทำคะแนนอย่างต่ำ 500 คะแนนในการสอบ TOEFL หรือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษที่คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

           1. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต 

           1.1 เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยา) ภ.ม. (จุลชีววิทยา) 
           1.2 เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (ชีวเคมี) ภ.ม. (ชีวเคมี)
           1.3 เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (เภสัชการ) ภ.ม. (เภสัชการ) 
           1.4 เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (เภสัชเคมี) ภ.ม. (เภสัชเคมี)
           1.5 เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (เภสัชวิทยา) ภ.ม. (เภสัชวิทยา)
           1.6 เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (เภสัชวินิจฉัย) ภ.ม. (เภสัชวินิจฉัย)
           1.7 เภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต (บริหารเภสัชกิจ) ภ.ม. (บริหารเภสัชกิจ)
           1.8 เภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต (เภสัชกรรมคลินิก) ภ.ม. (เภสัชกรรมคลินิก)

           2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งแบ่งเป็น 4 วิชาหลักคือ 

           2.1 ชีวเคมี
           2.2 จุลชีววิทยา
           2.3 สรีรวิทยา
           2.4 เภสัชวิทยา 

           3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชเคมีและพฤกษเคมี

           3.1 วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เภสัชเคมี) วท.ม. (เภสัชเคมี)
           3.2 วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พฤกษเคมี) วท.ม. (พฤกษเคมี)

           4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการพืช ซึ่งแบ่งเป็น 4 วิชาหลักคือ 

           4.1 Plant Molecular Biology and Genetics
           4.2 Plant Physiology
           4.3 Plant Conservation and Breeding Technology
           4.4 Pharmaceutical Botany

           การเข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาเอก

           ผู้สมัครต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ , สาขาวิชาเคมี หรือสาขาวิชาชีววิทยา หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากสถาบันฯในความควบคุมของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 ผู้สมัครต้องทำคะแนนอย่างต่ำ 500 คะแนนในการสอบ TOEFL หรือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 

           1. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชเคมีและพฤกษเคมี ปร.ด. (เภสัชเคมีและพฤกษเคมี) 
           2. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ชีวภาพ ปร.ด. (เภสัชศาสตร์ชีวภาพ) 
           3. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการพฤกษเภสัชภัณฑ์ ปร.ด. (วิทยาการพฤกษเภสัชภัณฑ์) 
           4. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชการ ปร.ด. (เภสัชการ) 
           5. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารเภสัชกิจ ปร.ด. (บริหารเภสัชกิจ)
 



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จักคณะเภสัช มหิดล อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2553 เวลา 18:09:59 6,173 อ่าน
TOP