x close

ชินภัทร มึนตึ้บ! ม.6 ไม่จบพุ่งทุกปี



ชินภัทร มึนตึ้บ! ม.6 ไม่จบพุ่งทุกปี (ไทยโพสต์)

          ชินภัทร มึนตึ้บ พบสถิติเด็กไม่จบ ม.6 พร้อมเพื่อนร่วมรุ่นย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 45 เพิ่มขึ้นทุกปี ตำหนิ สพฐ.ที่ผ่านมาทำงานแบบตั้งรับ ไม่คิดแก้ปัญหาเด็กติด "0" หรือ "ร" จึงเพิ่มขึ้นทุกปี 


          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีปัญหานักเรียนติด "0" ติด "ร" ว่า จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปีการศึกษา 2544-2552 ที่มีการใช้หลักสูตรใหม่การศึกษาขั้นพื้นฐานจะพบว่าจำนวนนักเรียนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่จบไม่พร้อมรุ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมในปีการศึกษา 2544 มีนักเรียนจบไม่พร้อมรุ่น 11,598 คน หรือ 3.76% จากนักเรียนประมาณกว่า 3 แสนคน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นในปีการศึกษา 2545 เป็น 13,401 คน หรือ 4.21%, ปีการศึกษา 2546 จำนวน 13,797 คน หรือ 4.39%, ปีการศึกษา 2547 จำนวน 17,532 คน หรือ 6.03%, ปีการศึกษา 2548 จำนวน 19,173 คน หรือ 6.90%, ปีการศึกษา 2549 จำนวน 20,292 คน หรือ 7.29%, ปีการศึกษา 2550 จำนวน 21,346 คน หรือ 7.65%, ปีการศึกษา 2551 จำนวน 23,735 คน หรือ 8.23% และปีการศึกษา 2552 จำนวน 22,567 หรือ 7.48% ทั้งนี้จำนวนนักเรียนที่จบไม่พร้อมรุ่นที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องไปหาสาเหตุเพื่อป้องกันและแก้ไข และทำข้อมูลว่าเด็กเหล่านี้มาแก้ "0" แก้ "ร" จนเรียนจบแล้วหรือยัง ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ไม่เคยจัดทำข้อมูลนี้มาก่อน

          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังพบว่าการสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น ในปี 2553 มีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สังกัด สพฐ.จำนวน 84,681 คน ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ตรวจสอบหลักฐานพบนักเรียนที่เรียนไม่จบหลักสูตรไปสมัครจำนวน 426 คน โดยได้มีการประสานเรื่องนี้มายัง สพฐ.ให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลให้ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะมีผลการเรียนแค่ 5 ภาคเรียนเท่านั้น จากที่กำหนดไว้ 6 ภาคเรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จึงเท่ากับว่าเด็กเรียนยังไม่จบ ทำให้เด็กเหล่านี้ขาดคุณสมบัติในการสมัครแอดมิชชั่น

          "ปัญหาเด็กจบไม่พร้อมรุ่นนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ สพฐ.จะต้องไปทบทวนดูต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดว่า การที่เด็กไม่มีใบ ร.บ.นั้นเป็นเพราะความล่าช้าของโรงเรียนในการออกเอกสารหรือไม่ และถือเป็นเรื่องที่เขตพื้นที่การศึกษาและทางโรงเรียนจะต้องหาวิธีป้องกันปัญหานักเรียนไม่จบพร้อมรุ่นให้มีความเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ทำงานแบบตั้งรับ โดยโรงเรียนควรมีระบบการติดตามผลการเรียนของนักเรียนเพื่อให้สามารถดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่เริ่มมีผลการเรียนมีปัญหาได้ตั้งแต่ชั้น ม.4-5 ส่วนนักเรียนเองก็ต้องรู้ในเรื่องเงื่อนไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น หากจะต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาต้องไปดูรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจะได้เตรียมหลักฐานให้ครบ ไม่ใช่พอจะถึงเวลาไปสมัครแล้วหลักฐานไม่ครบ" นายชินภัทรกล่าว และว่า สพฐ.จะไปดูเรื่องนี้ให้ครบวงจรในการออกเอกสารหลักฐานของโรงเรียนให้นักเรียน โดยโรงเรียนจะต้องดำเนินการไม่ให้เกิดความล่าช้า รวมทั้งโรงเรียนต้องป้องกันโดยการช่วยเหลือดูแลนักเรียนเหล่านี้ให้มีโอกาสได้เรียน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชินภัทร มึนตึ้บ! ม.6 ไม่จบพุ่งทุกปี อัปเดตล่าสุด 16 กันยายน 2553 เวลา 16:56:21 1,168 อ่าน
TOP