x close

เด็กชายแดนใต้ อ่านไม่ออกเพียบ



"จ.ชายแดนใต้"อ่านไม่ออกเพียบ (ไทยโพสต์)

          สพฐ.เผย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และพื้นที่ห่างไกลพบปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เยอะสุด ขนาด รร.ใหญ่พิเศษก็ยังเจอเพียบ ตั้งเป้า 2 ปีลดอัตราเป็นศูนย์ ด้าน รมว.ศธ.จี้ทบทวนการพัฒนาครู และงบฯ ที่ทุ่มลงไป

          ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อประกันคุณภาพผู้เรียน ในระดับชั้น ป.3 ปีการศึกษา 2552 ของ รร.ในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งพบว่ามีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การอ่านออก เขียนได้ และคิดคำนวณจำนวนมากนั้น นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ผลการประเมินดังกล่าวทำให้เขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มีปัญหาซึ่งต้องเร่งแก้ไข กลุ่มแรกคือ สพท.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ห่างไกล อาทิ สพท.จ.เชียงใหม่ เขต 4, 5, 6 และ จ.ตาก ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สูงและห่างไกล ทั้งนี้ สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2 ปีจะลดอัตราเด็ก ป.3 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคิดคำนวณไม่เป็นลงให้เหลือศูนย์หรือใกล้เคียงที่สุด

          "เรื่องนี้ต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดงบฯ ในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยจัดซื้อสื่อเพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ถ้ายังพบว่าเด็ก ป.3 ยังมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ไม่ลดลงก็คงต้องหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบร่วมกัน" นายชินภัทรกล่าว

          ผลการประเมินดังกล่าวเมื่อจำแนกตามขนาด รร. พบว่า ความสามารถด้านการอ่าน รร.ขนาดเล็กไม่ผ่านเกณฑ์ 6.09% รร.ขนาดกลาง 8.76% รร.ขนาดใหญ่ 8.71% และ รร.ขนาดใหญ่พิเศษ 4.75% ความสามารถด้านการเขียน รร.ขนาดเล็กไม่ผ่านเกณฑ์ 16.13% รร.ขนาดกลาง 19.48% รร.ขนาดใหญ่ 20.58% และ รร.ขนาดใหญ่พิเศษ 14.78% ความสามารถทางด้านการคิดคำนวณ รร.ขนาดเล็กไม่ผ่านเกณฑ์ 22.1% รร.ขนาดกลาง 25.16% รร.ขนาดใหญ่ 26.62% และ รร.ขนาดใหญ่พิเศษ 16.21%

          ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ผลการประเมินดังกล่าวเป็นสารตกค้างจากการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรก ซึ่งในการปฏิรูปการศึกษารอบสองตนได้มุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพของนักเรียน กำหนดมาตรฐานในแต่ละช่วงชั้น รวมทั้งมีการพัฒนาครูทั้งระบบ เชื่อว่าจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น ทั้งนี้ได้มอบให้ สพฐ.ไปดูว่ากระบวนการที่จะจัดการเรียนการสอนในระดับ ป.1-ป.3 ที่ผ่านมาผู้ปกครองก็บ่นว่ายัดเยียดเนื้อหาให้เด็กมากเกินไป อาจต้องจัดให้มีการสอนเสริมในวิชาพื้นฐานที่เด็กเรียนอ่อน เช่น วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงทบทวนการจัดสรรงบฯ ที่จะต้องสะท้อนกลับมาที่คุณภาพการเรียนการสอน.


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กชายแดนใต้ อ่านไม่ออกเพียบ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2553 เวลา 10:43:46
TOP