x close

เมื่อนักเรียนจะเข้าร่วมโครงการไปต่างประเทศ

 




เมื่อนักเรียนจะเข้าร่วมโครงการไปต่างประเทศ

          หลายปีที่ผ่านมานักเรียนไทยจำนวนมากสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อเดินทางไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้ความสนับสนุนของผู้ปกครองแม้มีค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม

          หากเป็นโครงการที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี หรือโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ผู้ใหญ่คงคลายความวิตกกังวลเพราะมั่นใจว่าบุตรหลานจะได้รับความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และมีเครือข่ายเพื่อนฝูงที่ดีในอนาคต ขณะเดียวกันจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากประเทศเจ้าภาพ โรงเรียนต้นสังกัด รวมทั้งมีครูพี่เลี้ยงร่วมเดินทางไปด้วย

          หากแต่โอกาสในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีไม่มากนักเพราะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนจำกัด และต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ผู้ปกครองจึงหันไปใช้บริการจากภาคเอกชนที่จัดโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนในลักษณะต่างๆ โดยยอมเสียเงินทองจำนวนมากเพื่อแลกกับการเปิดโลกทัศน์กว้างไกลของลูกหลานในต่างประเทศ แต่ท้ายสุดอาจต้องพบความผิดหวังเพราะถูกเจ้าของโครงการหลอกลวง ดังข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเนือง ๆ ถึงการลอยแพผู้เข้าร่วมโครงการที่สนามบิน มีการจัดหลักสูตรหรือชั้นเรียนที่ไม่เหมาะสม/ไม่มีคุณภาพ หรือแม้แต่นักเรียนถูกครอบครัวอุปถัมภ์เอารัดเอาเปรียบ หรือถูกลวนลาม จนเกิดเป็น  คดีความ ฟ้องร้องกันอย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่ายังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนเพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม หรือจัดค่ายฤดูร้อนหลากหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพได้รับคำชมเชยจากผู้ใช้บริการอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

          ดังนั้นสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงใคร่ขอเสนอแนะข้อพิจารณาบางประการสำหรับผู้ปกครองที่ประสงค์จะส่งบุตรหลานเข้าร่วมโครงการข้างต้นในช่วงปิดภาคเรียน ดังนี้

           1. ควรได้ตรวจสอบสถานะของโครงการแลกเปลี่ยน โดยสอบถามกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์หมายเลข 02-547 -5050 (หรือ สายด่วน 1570) ว่าบริษัทที่ดำเนินโครงการดังกล่าวได้จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจด้านการให้คำปรึกษา จัดทำโครงการแลกเปลี่ยน การทัศนศึกษา และการแนะแนวการศึกษาต่ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย น่าเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด 

           2. ประสานโรงเรียนต้นสังกัดที่บุตรหลานกำลังศึกษา เพื่อขอคำแนะนำ รวมทั้งหากตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ผู้ปกครองต้องยื่นเรื่องต่อโรงเรียนเพื่อขออนุญาตให้บุตรหลานของตนเดินทางไปต่างประเทศเพราะอยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน 

           3. ขอคำแนะนำจากนักเรียนที่เคยเข้าร่วมโครงการ โดยอาจติดต่อขอรับรายชื่อจากบริษัท แล้วสอบถามเนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลตรง

           4. ศึกษาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมโครงการจากหลาย ๆ บริษัท แล้วพิจารณาความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยตระหนักว่าการเรียกเก็บค่าบริการที่มีราคาถูกมิใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด 

           5. ประสานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอความร่วมมือประสานสำนักงานในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจสอบความมั่นคง ความน่าเชื่อถือของหน่วยประสานงานของโครงการนั้นในต่างประเทศ  รวมทั้งขอความอนุเคราะห์ในการดูแลบุตรหลานขณะที่พำนักในต่างประเทศนั้นด้วย

          ทั้งนี้ผู้ปกครองควรพิจารณาถึงวุฒิภาวะของบุตรหลานว่ามีความพร้อมที่จะไปร่วมโครงการในต่างประเทศเพียงลำพังหรือมีข้อจำกัดประการใดอีกหรือไม่ รวมทั้งศึกษาถึงกฎระเบียบข้อบังคับ ของโครงการ สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ของประเทศที่จะเดินทางไปศึกษาฝึกอบรม เพื่อให้การเดินทางไปร่วมโครงการในต่างประเทศได้รับประโยชน์ ประทับใจ และคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ได้ลงทุนไปอย่างแท้จริง

          อนึ่ง สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้จัดทำหนังสือเรื่อง "ขอแนะนำสักนิด ประกอบการคิดไปต่างประเทศของนักเรียน" เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ปกครองประกอบการพิจารณาส่งบุตรหลานเข้าร่วมโครงการไปต่างประเทศด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กลุ่มสารสนเทศต่างประเทศ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

โทร. 02-6285646, 48 ต่อ 121-122

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อนักเรียนจะเข้าร่วมโครงการไปต่างประเทศ อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2553 เวลา 14:40:36
TOP