กยศ. เอาจริง ผุดมาตรการยึดทรัพย์หากไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้หวั่นใจ ปล่อยหนี้ทิ้งไว้จะถูกยึดทรัพย์หรือไม่ หากได้หมายศาลจะทำอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอม สรุปรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้ให้เข้ามาดูคำตอบกันได้ที่นี่
นับเป็นประเด็นที่สั่งสมค้างคากันมาเนิ่นนาน สำหรับปัญหาเบี้ยวหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ผู้กู้ยืมจำนวนมากไม่ยอมชำระหนี้ แม้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งแม้ทาง กยศ. จะจัดโครงการไกล่เกลี่ยหนี้มาหลายต่อหลายครั้งกินเวลายาวนาน รวมถึงจัดโปรโมชั่นจูงใจให้มาชำระหนี้ แต่ก็ดูจะไม่เป็นผลเท่าไรนัก
จนในที่สุด กยศ. จึงได้ออกมาตรการขั้นเด็ดขาดคือ "การยึดทรัพย์" บุคคลที่ติดค้างหนี้อย่างยาวนานนับสิบปี ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินการไปแล้ว 786 ราย และมีผู้เข้าข่ายถูกยึดทรัพย์อีก 4,175 ราย (อ่านข่าว กยศ. ลุยแล้ว ! บุกยึดทรัพย์ลูกหนี้ คิวต่อไปอีก 4 พันกว่าราย)
จากมาตรการดังกล่าวได้สร้างความหวั่นใจแก่ลูกหนี้ กยศ. ไม่ใช่น้อย ทั้งที่อยากคืนใจจะขาด แต่หนี้สินกับดอกเบี้ยมีจำนวนมากจนชำระคืนในงวดเดียวไม่ไหว แล้วเหล่าลูกหนี้จะมีวิธีจัดการหนี้ กยศ. อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีถึงขั้นยึดทรัพย์
กยศ. คืออะไร
กยศ. คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน-นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา รวมถึงค่าครองชีพในระหว่างศึกษา เพื่อมอบโอกาสด้านการศึกษา โดยผู้กู้ยืมจะต้องชำระหนี้คืนหลังสำเร็จการศึกษาหรือเลิกศึกษาแล้วเป็นเวลา 2 ปี เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้องต่อไป
ลูกหนี้ชักดาบ ปัญหาเกิด
เมื่อกู้ยืมเงินมาก็เป็นหน้าที่ของลูกหนี้ให้การชำระเงินกู้ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ กยศ. จำนวนมากถือคติ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ปล่อยให้คดีความค้างคารอให้หมดอายุความ โดยพบว่ามีผู้กู้รายเก่าที่เบี้ยวหนี้มากถึง 80% กระทบถึง กยศ. ที่เสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องทางการเงินในอนาคต ส่งผลโดยตรงต่อเด็กรุ่นใหม่ที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา
กยศ. เอาจริง ยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกัน
ด้วยเหตุนี้ทาง กยศ. จึงต้องหามาตรการต่าง ๆ มาเพื่อจูงใจให้ผู้กู้ชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่นลดดอกเบี้ย โครงการรณรงค์ชำระหนี้ โดยหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นลูกหนี้ กยศ. แม้กระทั่งการส่งชื่อเข้าเครดิตบูโร ซึ่งได้ดำเนินการมาพักใหญ่ แต่ก็ยังมีลูกหนี้อีกส่วนมากที่ยังเพิกเฉยนานถึงขนาดเป็นสิบกว่าปีก็ยังไม่ยอมจ่าย ทาง กยศ. จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยมาตรการทวงหนี้แบบใหม่นั่นคือ "การยึดทรัพย์"
โดย นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. ได้เผยถึงกระบวนการในมาตรการใหม่ว่า เริ่มจาก กยศ. จะฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ จากนั้นหากยังไม่มีการชำระหนี้ ก็จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อให้เจ้าพนักงานไปบังคับยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกัน แต่ก่อนจะบังคับคดี จะมีการไกล่เกลี่ยก่อน เพื่อให้โอกาสรอบสุดท้ายในการใช้หนี้ก่อนยึดทรัพย์
ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้ผู้ที่ค้างชำระรีบมาชำระเงินกู้ยืมคืน เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องและยึดทรัพย์ขึ้น เพราะหลังจากนี้จะไม่มีโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีอีก
เตือนลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงขั้นยึดทรัพย์
นางขวัญระพี จุฬาพิมพ์พันธุ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า กรมบังคับคดีมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ กยศ. เพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยระหว่าง กยศ. และลูกหนี้
โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้แบ่งการชำระหนี้เป็นงวดในแต่ละเดือน ซึ่งหากพ้นจากขั้นตอนนี้ กรมบังคับคดีต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ การสืบทรัพย์ บังคับคดี และขายทอดตลาด เพื่อดึงเงินกลับเข้าสู่ระบบการกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไป
อย่างไรก็ตามระเบียบของ กยศ. ระบุไม่รับไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้ที่เหลืออายุความน้อยกว่า 3 ปี
สำหรับการยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกัน เช่น พ่อ แม่สามารถยึดได้ทั้ง รถ บ้าน ที่ดิน เพื่อนำมาขายทอดตลาด จากนั้นจะหักจำนวนหนี้พร้อมดอกเบี้ย และค่าดำเนินการในการขายทอดตลาด หากมีเงินเหลือจึงจะคืนให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ต่อไป
กยศ. จะฟ้องดำเนินคดีเมื่อใด
หลังจากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ กยศ. จะให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้จากผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันในแต่ละปีการศึกษา
ลูกหนี้สามารถเข้าโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีได้ เพื่อขอประนีประนอมยอมความกัน
หากลูกหนี้ผิดนัดชำระติดต่อกันนาน 4 ปีขึ้นไป กยศ. จะอนุมัติให้ทนายความดำเนินคดีกับลูกหนี้
ทนายความจะยื่นฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันต่อศาลเป็นคดีแพ่ง
ศาลจะมีหมายเรียกพร้อมส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลย ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
ทำอย่างไร หากถูกฟ้องคดี กยศ.
ลูกหนี้ที่ถูก กยศ. ฟ้องดำเนินคดีและได้รับหมายเรียกแล้ว มีแนวปฏิบัติเพื่อให้ศาลถอนฟ้อง ดังนี้
1. ชำระหนี้ทั้งหมดได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา พร้อมชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าทนายความ 5,500 บาท จากนั้นนำเอกสารชำระหนี้และค่าทนายความ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน ส่งโทรสารที่หมายเลข 0-2643-1470 ถึงฝ่ายบริหารหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
2. หากผู้กู้ยืมได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กู้ยืมเงิน หรือเพิ่งจบการศึกษา แต่ถูกฟ้องเนื่องจากไม่ได้แจ้งสถานภาพการศึกษา ให้นำเอกสารที่แสดงว่าได้มีการศึกษาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน หรือถึงเวลาที่จบการศึกษา ส่งโทรสาร ถึง ฝ่ายบริหารหนี้ กยศ. เพื่อดำเนินการถอนฟ้องให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือถึงธนาคารเพื่อทำการยกเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับให้
3. กรณีผู้กู้ยืมเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือผู้พิการ ให้แจ้งทาง กยศ. โดยนำส่งเอกสารดังนี้
สำเนาสมุดประจำตัวผู้พิการ หน้าที่มีการบันทึกข้อมูลทุกหน้า
หนังสือรับรองความพิการโดยแพทย์ (ตัวจริง) สามารถออกได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง
ใบรับรองแพทย์
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้กู้
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ค้ำประกัน
สำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้
สำเนาทะเบียนบ้านผู้ค้ำประกัน
4. กรณีผู้กู้ยืมบวชอยู่ หรือจำคุกอยู่ สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปศาลแทนได้ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 5. ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
ผู้กู้ พร้อมด้วยผู้ค้ำประกันทุกคนที่มีชื่อในหมายศาลหรือคำฟ้อง เดินทางไปที่ศาลพร้อมกันในวันนัด ตามหมายศาล ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันไม่สามารถเดินทางมาที่ศาลได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาแทน
ผู้กู้พร้อมด้วยผู้ค้ำประกัน ทำสัญญาประนีประนอมความเพื่อชำระหนี้ โดยร่วมกันผ่อนชำระเป็นรายเดือน ในระยะเวลาไม่เกิน 9 ปีตามอัตราและเงื่อนไขที่ กยศ. กำหนด
สามารถชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา
ชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความตามที่ศาลพิจารณา ได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา
จากนั้นผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกัน ส่งหลักฐานการชำระหนี้ให้แก่สำนักงานทนายความ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 งวด
ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามยอม
เสียงจากสังคม กรณียึดทรัพย์ลูกหนี้ กยศ.
ในขณะที่ลูกหนี้เริ่มหวาดหวั่นกับมาตรการใหม่ของ กยศ. ในการขอให้ศาลบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ ก็ได้มีกระแสสังคมในโลกออนไลน์ที่มองมาตรการดังกล่าวออกเป็น 2 ฝั่ง
โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการยึดทรัพย์ เนื่องจากมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้กู้ยืมเงินที่จะต้องชำระเงินคืนอยู่แล้ว อีกทั้งการที่รุ่นพี่ไม่คืนเงินกู้ ยังส่งผลกระทบต่อรุ่นน้องที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน กยศ. เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ตัวเองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางฝ่ายมองว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะดูรุนแรงไป และ กยศ. ที่เป็นหน่วยงานของรัฐน่าจะหามาตรการอื่นที่ไม่หนักขนาดยึดทรัพย์มาบังคับใช้
เกาะติดข่าว กยศ. ทั้งหมดคลิ กเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก
, ธนาคารกรุงไทย