ศธ. ย้ำนโยบายลดเวลาเรียน ไม่ใช่ให้เลิกเรียนแล้วกลับบ้านเลย หากใครมีภาระทางบ้านก็สามารถกลับได้ สั่ง สพฐ. ออกแบบกิจกรรมเรียนรู้หลังเลิกเรียน ให้โรงเรียนนำร่องปรับใช้ ย้ำทุกกิจกรรมห้ามคิดค่าใช้จ่าย
วานนี้ (28 สิงหาคม 2558) พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงนโยบายลดเวลาเรียนที่ให้เด็กเลิกเรียนตั้งแต่เวลา 14.00 น. โดยบางคนเกิดความเข้าใจผิดว่าหลังเลิกเรียนแล้วจะปล่อยเด็กกลับบ้านเพียงเท่านั้น ไม่มีการขยายความว่าเจตนาของการปรับเวลาเรียนให้น้อยลง มีเป้าหมายหลักเพื่อไม่ให้เด็กเครียดจนเกินไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ได้ไปศึกษาดูแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมเด็กต้องเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเด็กเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา และเห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา 14.00 น.
อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว พบว่ามีผู้ปกครองบางกลุ่มไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะติดภาระหน้าที่การงาน กลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่า ซึ่งในส่วนนี้โรงเรียนก็จะมีกิจกรรมที่ให้ความสุขแก่เด็กในช่วงบ่าย อันเป็นแนวทางที่จำตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองมีความสุข เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไม่เป็นการเพิ่มการบ้านแก่เด็ก ส่วนผู้ปกครองกลุ่มไหนที่มีภาระทางบ้าน อยากให้ลูกกลับมาช่วยเลี้ยงน้อง หรือช่วยดูแลบ้าน ก็สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังเลิกเรียน
ทั้งนี้สำหรับแนวคิดดังกล่าวจะเริ่มนำร่องใน 3,500 โรงเรียนที่มีความพร้อม หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด ในภาคเรียนที่ 2/2558 เดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะประเมินผล ดูว่ามีผลตอบรับในด้านบวกหรือลบ เพื่อทำการปรับปรุงและขยายผลต่อไป ทั้งนี้ขอให้ใช้คำเรียกนโยบายนี้ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ไปทำกิจกรรมพัฒนาสมองเด็ก ไม่ใช่ให้เลิกเรียนแล้วเด็กกลับบ้าน
ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การปรับลดเวลาเรียนโดยเลิกเรียนเวลา 14.00 น. เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสังคมที่มองว่าเด็กเรียนมากเกินไป สพฐ. จึงปรับลดเวลาเรียนลง จากนั้นจะให้เด็กเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ อาทิ ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรี พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพหรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต อาทิ สอนว่ายน้ำ ทำกับข้าว เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งการสอนเสริม โดยเฉพาะการสอนทำการบ้าน ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันทั้งนี้ เร็ว ๆ นี้ สพฐ.จะเชิญ ผอ.เชตพื้นที่การศึกษา และผอ.โรงเรียนมาประชุมเพื่อร่วมกันออกแบบการจัดตารางกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งจะมีประมาณ 6-7 รูปแบบให้โรงเรียนนำร่องได้เลือกใช้ตามความสมัครใจ คาดว่ากลางเดือนกันยายนนี้น่าจะได้รูปแบบที่ชัดเจน
ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเด็กเรียนน้อยความรู้จะหดหายหรือไม่นั้น ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าเด็กเรียนมากแต่ไม่ได้เอาไปใช้ สพฐ. จึงปรับลดเวลาเรียนวิชาหลักลง แต่ยังคงเนื้อหาไว้ที่เหลือนักเรียนจะต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมโดยการลงมือค้นคว้าและทำกิจกรรม อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการได้สั่งกำชับว่าทุกกิจกรรมที่ทำห้ามเรียกเก็บเงินจากนักเรียนในทุกกรณี หากมีการเรียกเก็บเงินจะถือว่ามีความผิด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก