โลกนี้มีกี่ภาษา นอกจากภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่แล้ว เคยอยากรู้ไหมว่าคนบนโลกนี้ใช้กี่ภาษาในการสื่อสารกัน
ปัจจุบันเราจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ได้อย่างน้อย 2 ภาษา และสำหรับบางคนก็สามารถสื่อสารได้มากกว่า 3 ภาษาด้วยซ้ำ แต่นอกจากภาษาแม่และภาษาต่างชาติที่จำเป็นต้องเรียนรู้แล้ว โลกกลม ๆ ใบนี้ยังมีภาษาที่ผู้คนใช้สื่อสารกันอยู่กีี่ภาษาล่ะ ? ถ้ากำลังสงสัยอยู่ละก็ ลองมาหาคำตอบจาก South China Morning Post ซึ่งจะช่วยไขความกระจ่างให้คุณ พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางภาษาที่น่ารู้อีกหลายข้อกันเถอะ
1. ประชากรโลกมีประมาณ 7.2 พันล้านคนทั่วโลก และปัจจุบันมีภาษาที่คนทั่วโลกใช้สื่อสารกันอย่างน้อย 7,102 ภาษา
2. จากจำนวนภาษาทั้งหมด มีภาษาแม่ที่เป็นภาษาประจำชนชาติอยู่ 23 ภาษา
3. 23 ภาษาแม่ที่ว่า ถูกใช้และสื่อสารโดยเจ้าของภาษาราว 4.1 พันล้านคนทั่วโลก
4. ภาษาที่คนใช้เป็นภาษาแม่มากที่สุด คือ ภาษาจีน โดยมีประชากรกว่า 1,197 ล้านคนที่สื่อสารกันด้วยภาษานี้ และภาษาจีนยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายใน 31 ประเทศทั่วโลก นับเป็นภาษาที่ถูกใช้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากภาษาอังกฤษ อาราบิก และฝรั่งเศส
5. ภาษาที่ถูกใช้เป็นภาษาแม่มากที่สุดรองจากจีน คือ ภาษาสเปน โดยมีคนใช้เป็นภาษาแม่เกือบ 400 ล้านคนทั่วโลก
6. ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก โดยประชากรจาก 110 ประเทศ รองลงมาคือ ภาษาอาราบิก มีคนใช้ทั้งหมด 60 ประเทศ
7. ภาษาที่ประชากรโลกเรียนรู้มากที่สุด คือ ภาษาอังกฤษ โดยมีคนเรียนภาษานี้ประมาณ 1,500 ล้านคนทั่วโลก รองลงมาคือ ภาษาฝรั่งเศส มีคนเรียนทั้งหมด 82 ล้านคนทั่วโลก
8. ปาปัวนิวกินีมีภาษาพูดมากที่สุดในโลก โดยมีภาษาพื้นเมืองประมาณ 839 ภาษา รองลงมาคือ ภาษาอินโดนีเซีย (707 ภาษาท้องถิ่น)
9. ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ถูกใช้มากที่สุดในอินเทอร์เน็ต (26.8%) รองลงมาคือ ภาษาจีนกลาง (24.2%)
10. ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน เป็นภาษาที่ถูกเผยแพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ มากที่สุด เพราะอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และการยึดเอาประเทศต่าง ๆ เป็นเมืองขึ้นในสมัยก่อน ส่วนภาษาจีนเป็นภาษาแม่ที่มีคนใช้มากที่สุดเนื่องด้วยจำนวนประชากรในประเทศที่มีมากที่สุดในโลกนั่นเอง
ได้รู้ภาษาต่าง ๆ ของโลกกันแล้ว เรามาเก็บความรู้รอบตัวเกี่ยวกับภาษาประจำชาติของเรากันบ้างดีกว่า
1. ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทยที่มีจุดกำเนิดตั้งแต่มีการรวมกันชองชนชาติ แรกเริ่มใช้เป็นภาษาพูดที่อยู่ในตระกูลภาษาไตหรือไททางแถบตอนใต้ของจีน แคว้นอัสสัมของอินเดีย ตอนเหนือของเมียนมา ประเทศไทย และประเทศลาว
2. พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดค้นประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมาใช้ในปี พ.ศ. 1826 เป็นต้นมา โดยพัฒนามาจากภาษาเขียนของขอมและมอญ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีภาษาไทยใช้พูดและเขียนอย่างจริงจังมากขึ้น
3. ภาษาไทยแท้มักจะเป็นคำโดด ๆ ที่มีความหมายครบสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น พ่อ แม่ ต่ำ สูง เป็นต้น
4. ภาษาไทยเป็นภาษาเดียวที่มีเสียงวรรณยุกต์ และหากผันวรรณยุกต์ ความหมายของคำก็จะเปลี่ยนไป
5. ภาษาไทยมีลักษณะนามให้ใช้ เช่น ปากกาเรียกเป็นด้าม เทียนไขเรียกเป็นเล่ม สัตว์เรียกเป็นตัว เป็นต้น
6. ภาษาไทยมีระดับในการใช้ เรามีทั้งภาษาระดับพิธีการ ภาษาทางการ ภาษากึ่งทางการ ภาษาระดับสนทนา และภาษากันเอง
ความรู้และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทั้งหมดนี้น่่าจะเป็นความรู้รอบตัวที่ค่อนข้างมีประโยชน์กับทุกคนพอสมควร อย่างน้อยเราจะได้เข้าคอร์สเรียนภาษาได้ถูกทิศหากต้องการท่องโลกกว้าง หรือในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ควรเรียนรู้ภาษาที่ 3 ที่ 4 ติดตัวไว้บ้าง แค่นี้ก็เหมือนได้ก้าวนำคนอื่น ๆ ไปหลายก้าวแล้วนะคะ
Internet World Stats, South China Morning Post