
สพฐ.รับสภาพคะแนนโอเน็ตต่ำ (ไทยโพสต์)
สพฐ.รับสภาพคะแนนโอเน็ต 3 ระดับต่ำ พร้อมปรับการเรียนการสอนกำหนดจุดเน้นในแต่ละระดับในปี 53 เตรียมหารือ สทศ.ปรับข้อสอบให้สอดรับกับการเรียนการสอน
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงผลสรุปคะแนนเฉลี่ยแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปี 2552 ทั่วประเทศ โดยคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทุกระดับทั้ง ป.6, ม.3 และ ม.6 ทุกวิชาต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกวิชาว่า เนื่องจากที่ผ่านมาเรากำหนดจุดเน้นการเรียนการสอนไม่ชัดเจน โดยเน้นทุกกลุ่มสาระจึงทำให้ผลคะแนนเฉลี่ยโอเน็ตของ 3 ระดับ ยังต่ำ
อย่างไรก็ตามในปีการศึกษา 2553 การเรียนการสอนจะมีจุดเน้นที่ชัดเจนขึ้น อาทิ ระดับช่วงชั้นที่ 1 หรือ ป.1-ป.3 ควรมีจุดเน้นเรื่องเด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นและมีความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เพราะถ้าวางพื้นฐานตั้งแต่ระดับ ป.1-ป.3 ดี เมื่อเลื่อนขึ้นมัธยมศึกษาก็จะมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ทั้งนี้ตนจะประสาน สทศ.เพื่อขอข้อมูลมาวิเคราะห์จุดอ่อนเพิ่มเติม พร้อมทั้งหารือ สทศ.ขอให้ปรับข้อสอบให้สอดรับกับจุดเน้นในแต่ละช่วงชั้นที่ สพฐ.ได้ปรับ มิเช่นนั้นจะเป็นการผลักดักให้เด็กไปกวดวิชาเพิ่มขึ้น
"ผมไม่แปลกใจกับผลคะแนนเฉลี่ยโอเน็ตที่ต่ำของทั้ง 3 ระดับ เพราะยังไม่ได้แก้ไขเรื่องการสอนที่กำหนดจุดเน้น อีกทั้งยังมีช่องว่างระหว่างฝ่ายจัดทำหลักสูตร ฝ่ายจัดการเรียนการสอน และฝ่ายวัดผลประเมินผลที่ยังไปคนละทางสองทาง ซึ่งควรต้องจัดเวทีเพื่อหารือร่วมกัน เพื่อจะได้เป็นแนวทางเดียวกัน รวมถึงผู้ออกข้อสอบโอเน็ตเองยังเป็นครูโรงเรียนสาธิตสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่อาจยังไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของภาพรวมโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ปีหน้าครูโรงเรียนสังกัด สพฐ.จะร่วมออกข้อสอบ คิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม การขอให้ สทศ.ปรับข้อสอบ ไม่ใช่เพื่อให้คะแนนสอบโอเน็ตสูงขึ้น เพียงแต่ต้องการให้การวัดประเมินผล สอดรับกับจุดเน้นการเรียนการสอนของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง" นายชินภัทรกล่าว
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตของทั้ง 3 ระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 เป็นส่วนใหญ่นั้น สะท้อนได้ในระดับหนึ่งถึงวิกฤติคุณภาพการศึกษา แม้นโยบายการเมืองจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แต่ก็ยังขาดแรงกระตุ้น ขาดความต่อเนื่องขาดการเตรียมการที่ดี นอกจากนี้ ศธ.มีนโยบายที่จะมุ่งเน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น แต่เรื่องดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2553
ขณะที่ สทศ.นำเรื่องคิดวิเคราะห์มาใช้ในการวัดประเมินผลแล้วในปี 2552 นี้ ที่สำคัญแม้ข้อสอบโอเน็ตของ สทศ.จะออกตามหลักสูตร แต่ก็ยาก ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ออกข้อสอบคือครูโรงเรียนสาธิตด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
