x close

นักเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน…เพราะขี้เกียจจริงหรือ ?





นักเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน…เพราะขี้เกียจจริงหรือ ? (วารสารการศึกษาไทย)

          นักเรียนทุกห้องเรียนมีหลายรูปแบบ และนักเรียนแต่ละคนย่อมมีสติปัญญาแตกต่างกัน การเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความบกพร่องทั้งทางสติปัญญาและทางร่างกาย ได้เรียนร่วมกับเด็กปกติได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 ซึ่งประเทศไทยริเริ่มโครงการ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าของหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนประถมศึกษา 7 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ ต่อมาในปี พ.ศ.2507 จึงขยายผลสู่การจัดการเรียนร่วมระหว่างเด็กพิการตาบอดกับเด็กปกติ นับจากนั้นการจัดการเรียนรู้ร่วมจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กระทั่ง พ.ศ.2520 มีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็กพิการว่า "เป็นการศึกษาที่จัดให้แก่บุคลที่มีลักษณะพิเศษ หรือผิดปกติทางร่างกาย สติปัญญาและจิตใจ อาจจัดเป็นสถานศึกษาเฉพาะ หรือจัดในโรงเรียนธรรมดาก็ได้ตามความเหมาะสม" โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ให้เด็กพิการมีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีอยู่ในชุมชน อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ปกครอง ลดภาระการจัดตั้งโรงเรียนของรัฐบาลขึ้นใหม่ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับชุมชนสังคมได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล หรือปรับตัวและดำริได้ภายใต้ข้อจำกัดของตนเอง ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมให้สังคมยอมรับและเข้าใจเด็กพิการ หรือใช้คำเรียกว่า "เด็กด้อยโอกาส" หรือ "เด็กที่มีลักษณะพิเศษ" ซึ่งแบ่งเป็น 8 ประเภท ประกอบด้วย

          1. ความบกพร่องทางการมองเห็น
          2. ความบกพร่องทางการได้ยิน
          3. ความบกพร่องทางการพูด
          4. ความบกพร่องทางสติปัญญา
          5. ความบกพร่องทางสุขภาพร่างกาย
          6. ความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์
          7. ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และ
          8. ความบกพร่องหรือพิการซ้ำซ้อน

          การสอนเด็กเหล่านี้เหมือนกับสอนเด็กปกติทั่วไป เพราะเรียนร่วมชั้นเดียวกัน ผิดกันแต่เพียงรายละเอียดปลีกย่อย ที่ครูต้องดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เพราะหลักสูตรที่ใช้ยึดหลักสูตรการศึกษาของประเทศ ที่โรงเรียนทั่วไปใช้เป็นแกนหลัก โดยมีหลักเพื่อพิจารณาสำหรับรูปแบบการดำเนินการดังนี้

การจัดให้เรียนร่วมในชั้นเรียน

          เป็นการจัดเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ และเรียนเหมือนกันทุกประการ

การจัดให้เรียนร่วมชั้นปกติ และมีครูพิเศษให้คำแนะนำปรึกษา

          คล้ายกับวิธีแรก คือ เป็นการเรียนร่วมเต็มเวลา แต่มีครูพิเศษคอยช่วยเหลือ ทำหน้าที่ดูแลแนะนำ กำหนดจุดประสงค์การเรียนการสอน และการปฏิบัติต่อเด็ก ช่วยประเมินการเรียนรู้ของเด็ก

การจัดให้เรียนร่วมในชั้นปกติ และรับบริการจากครูเวียนสอน

          จะมีทีมครูทำหน้าที่สอนเด็กในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย

การจัดให้เรียนร่วมในชั้นปกติ และรับบริการจากครูเสริมวิชาการเป็นบางเวลา

          ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียน และอาจจัดการสอนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เด็กไม่ได้รับการสอนในชั้นปกติ คือ การจัดกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันในโรงเรียนทั่วไป เมื่อเด็กที่มีความบกพร่องเหล่านี้ต้องเรียนร่วมกับเด็กปกติ

เด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน

          เด็กที่ มีความบกพร่องทางการอ่าน หรือภาวการณ์อ่านบกพร่อง (dyslexia) หมายถึง การที่เด็กมีความยุ่งยากในการอ่าน ไม่สามารถอ่านได้ ไม่เข้าใจความหมายของอักษรที่เขียนเป็นคำ เรียกว่าตาบอดดำ (word blindness) หมายถึง ลักษณะการเรียนอ่านได้ยาก หรือปัญหาการเรียนรู้ด้านการอ่าน จะมีสติปัญญาปกติหรือสูงกว่าเกณฑ์ปกติ พบว่า บุคคลสำคัญของโลกที่มีปัญหาดังกล่าว ได้แก่ โทมัส อัลเบอร์ต ไอน์สไตน์ และเลียวนาร์โด ดาวินชี

ภาวการณ์อ่านบกพร่อง มี 3 ลักษณะ คือ

          1. ปัญหาที่เกิดจากการฟัง (auditory-linquistic type) พบว่า เด็กไม่สามารถจำแนกเสียง การเรียงลำดับเสียง และการรับรู้ชื่อของเสียงที่ได้ยิน จึงไม่สามารถเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรที่เห็นกับเสียงที่ได้ ยินในคำพูดนั้นได้
          2. ปัญหาที่มาจากมิติการเห็น (visual-spatial type) เป็นความพกพร่องที่ไม่สามารถจำแนกสิ่งที่เห็น การเรียงลำดับสิ่งที่เห็น การจำแนกภาพพื้นที่เห็น ตลอดจนการรับรู้ความรู้สึกของสิ่งที่เห็น เด็กกลุ่มนี้พูดได้ตามปกติ แต่ไม่อาจรู้มิติและการเห็นที่จำเป็นต้องใช้ในทักษะการอ่านได้

          3. ปัญหาแบบ ผสม (mixed dyslexia) เป็นเด็กที่มีปัญหาทั้งสองด้าน คือ การฟังและการเห็น

พฤติกรรมเด็กที่มี ปัญหาการเรียนและการอ่าน

          1. อ่านสลับตัวอักษร อ่านออกเสียงไม่ชัด
          2. หลงบรรทัด อ่านตะกุกตะกัก ผิดๆ ถูกๆ
          3. ขมวดคิ้วนิ่วหน้าเวลาอ่าน ไม่เข้าใจความหมายของศัพท์
          4. อ่านสลับคำ อ่านข้ามคำ อ่านช้า อ่านย้อนกลับไปกลับมา
          5. จับใจความเรื่องที่อ่าน หรือลำดับเรื่องที่อ่านไม่ได้

บทบาทหน้าที่ของครู

ถ้าพบ ว่าเด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับการเห็น ต้องใช้วิธีการสอนที่อาศัยประสาทสัมผัสช่วย tactile-kinesthetic approach และในส่วนที่เด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ต้องใช้วิธีการสอนจากการใช้การเรียนรู้แบบรวมคำทั้งคำ whole word approach

เด็กที่มีปัญหาด้านการเขียน

          ในเรื่องการเขียนบกพร่อง Dysgraphia เป็นความบกพร่องทางกระบวนการเขียนเพื่อสื่อความหมาย ไม่เกี่ยวข้องในเรื่องของสติปัญญา ดังนั้น ปัญหาที่ทำให้การเขียนบกพร่องมีดังนี้

          1. ทักษะการใช้ ไม่สามารถรับรู้การเรียงลำดับความจำ
          2. การรับรู้ด้านมิติทางการเห็น ความจำจากการเห็น
          3. ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการพูด เช่น การเรียงลำดับการพูด การจำคำพูด การเข้าใจคำพูด
          4. การแสดงออกการจำแนกเสียงที่ได้ยิน
          5. ไม่มีทักษะการอ่าน รู้คำศัพท์น้อย
          6. ขาดทักษะการใช้ไวยากรณ์ การเรียงลำดับประโยค
          7. มีความบกพร่อง ในการจำแนกเสียง
          8. ความสัมพันธ์ของการใช้มือและตา การบังคับกล้ามเนื้อมือ

          ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการบกพร่องในการเขียน เมื่อเด็กได้ยินเสียงจึงไม่สามารถเขียนเป็นตัวหนังสือ และมักสับสนตัวอักษรที่มีความคล้ายคลึงกัน มักสะกดผิด เขียนตกๆ หล่นๆ หรือเพิ่มอักษรเข้าไปอีก และพบว่าเด็กบางคนเขียนได้เร็วแต่เลินเล่อ เขียนผิดๆ ถูกๆ หรือบางกรณีเขียนช้า อย่างระมัดระวัง แต่ก็ไม่ทำให้ตัวอักษรสวยงามได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เด็กมีความยุ่งยากในการเขียนหนังสือ จึงไม่อยากเรียน ในบางกรณีที่มีเวลาจำกัด จึงไม่สามารถทำงานได้เสร็จทันเวลา

พฤติกรรมของเด็กที่มีภาวการณ์เขียนบกพร่อง

          1. มีความยุ่งยากในการลอกข้อความ
          2. เขียนหนังสือไม่อยู่บรรทัดเดียวกัน ตัวหนังสือโย้ไปเย้มา
          3. ตัวหนังสือลายมืออ่านยาก มีขนาดและรูปร่างไม่เท่ากัน
          4. ไม่มีการเว้นวรรคตอนและช่องไฟ เขียนติดกันจนเกินไป
          5. เรียงลำดับอักษรผิดในคำต่างๆ สะกดคำผิด
          6. เขียนตัวหนังสือกลับด้าน
          7. เขียนไม่ได้ใจความเขียนวกไปวนมา

บทบาทหน้าที่ของครู

          ครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โดยศึกษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ควรวินิจฉัยให้ถูกต้องในแต่ละเรื่อง แล้วจึงให้การช่วยเหลือแต่ละด้านไป เด็กควรได้รับการเอาใจใส่ดูแล การเสริมแรงให้กำลังใจตลอดจนการรับรู้สิ่งดีๆ เกี่ยวกับตนเอง จะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จของเด็ก

ยุทธศาสตร์การอสนอย่างมีประสิทธิภาพ

          เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตน การที่ครูจะใช้วิธีสอนนักเรียนทุกคนให้เหมือนกันหมด ทำให้เด็กบางคนไม่สมารถพัฒนาไปได้ดีเท่าที่ควร เด็กคนใดที่เรียนไม่ดีเท่าที่ควร หรือเรียนได้ต่ำกว่าระดับความสามารถที่แท้จริง ล้วนเป็นเด็กที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ ครูที่สามารถสอนชั้นเรียนร่วมได้ดีนั้น ควรมีความสามารถในการจัดชั้นเรียน การปฏิบัติต่อเด็ก การมอบงานให้เด็กทำ

วิธีการจัดชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพ

          1. ครูควรวางแผนการสอนล่วงหน้า โดยมอบหมายงานให้เด็กทำอย่างดี ไม่ควรปล่อยเด็กให้มีเวลาว่าง เพราะถ้ามีเวลาว่างเด็กจะไม่อยู่นิ่ง อาจลุกจากที่นั่ง หรือคุยกัน ทำให้คุมชั้นเรียนยาก
          2. ควรให้เด็กมีใจจดจ่ออยู่กับงานที่ ถูกมอบหมาย งานควรเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรนานเกินไป การเปลี่ยนกิจกรรมควรเปลี่ยนในเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการขาดระเบียบวินัยเด็ก
          3. ในกรณีที่เด็กขาดระเบียบ ครูไม่จำเป็นต้องลงโทษเด็ก หรือไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการอื่น
          4. ครูควรใช้วิธีการเสริมแรงเชิงบวกกับ เด็กเมื่อแสดงพฤติกรรมที่ดี และถ้าเด็กตอบผิดไม่ควรตำหนิเด็ก ควรให้คำแนะนำว่า คำตอบที่ถูกควรเป็นอย่างไร จำทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเรียน
          5. การมอบหมายงานให้เด็กทำ ไม่จำเป็นจ้องเหมือนกันหมดทุกคนควรมอบหมายงานให้ตามความสามารถของเด็ก แต่ละคนซึ่งเป็นงานที่เด็กสามารถทำได้

เด็กปัญญาอ่อนระดับเรียนได้

          เด็กปัญญาอ่อนกลุ่มนี้มีภาวะปัญญาอ่อนขนาดน้อย ระดับเรียนได้ มีระดับ IQ ระหว่าง 50-70 สาเหตุอาจมาจากความรุนแรงของโรค เด็กกลุ่มนี้ในวัยก่อนเรียน จะแยกไม่ออกว่ามีความผิดปกติ เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วจึงพบว่า ผลการเรียนต่ำกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน และมีพัฒนาการสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ จะเท่ากับเด็กอายุ 7-10 ขวบ ทั้งยังมีความยากลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลก พบว่า กลุ่มปัญญาอ่อนระดับเรียนได้ มีจำนวนถึงร้อยละ 75 ของจำนวน บุคคลปัญญาอ่อนทั้งหมด

          เด็กปัญญาอ่อนระดับเรียนได้ มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันแก้ปัญหากันทุกฝ่าย ปัญญาพฤติกรรมพอสรุปได้ ดังนี้

          1. อารมณ์รุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์จนเองได้
          2. มีนิสัยก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่นและทำลายสิ่งของต่างๆ
          3. มีอาการซึมเซา เชื่องช้า หรือบางครั้งอาจซุกซนไม่อยู่นิ่ง ชอบเดิน และหยิบฉวยสิ่งของ
          4. ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่เชื่อฟัง และเข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้
          5. ความสนใจในการเรียนรู้น้อย ดูเหมือนว่าไม่สนใจการเรียน ทำให้การเรียนไม่ได้ผล

          ความสามารถของเด็กกลุ่มนี้จะเรียนได้ถึงชั้นสูงสุด ระดับประถมศึกษาเท่านั้น การจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงระดับความสามารถ และต้องใช้หลักสูตรการศึกษา พิเศษ การที่เด็กได้เรียนร่วมกับเด็กปกติทั่วไปในโรงเรียนเดียวกัน ทำให้เขาได้เรียนรู้การเข้าสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับเด็กปกติได้อย่างมีความสุข จากปัญหาทางพฤติกรรมทำให้มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูที่ให้กับเด็ก จึงจำเป็นต้องใช้หลักการสอนที่พิเศษกว่าเด็กปกติทั่วไป ดังนี้

          1. ไม่ควรสอนเนื้อหาในบทเรียนมากเกินไป ควรสอนซ้ำๆ ให้สม่ำเสมอ เท่ากับเป็นการย้ำ โดยการใช้คำพูดง่ายๆ ประโยคสั้นๆ แต่ต้องมีวิธีการไม่ทำให้การเรียนน่าเบื่อ เพื่อเป็นการฝึกการจำ
          2. ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสม กับสภาพของชีวิตจริงที่สามารถปฏิบัติได้
          3. เนื่องจากความสนใจจะเป็นช่วงระยะ สั้นๆ จึงควรใช้เวลาให้เหมาะสมและควรใช้สื่อประกอบการสอน โดยต้องคำนึงถึงระดับพัฒนาการของเด็ก
          4. ควรมีการเสริมแรง เพื่อเป็นการให้กำลังใจเมื่อเด็กประสบผลสำเร็จ อาจให้เป็นรางวัล คำชมเชย หรือแสดงอาการชื่นชมยินดีต่างๆ
          5. ควนสังเกตพฤติกรรม และบันทึกความก้าวหน้าของเด็กเป็นรายบุคคล เป็นระยะๆ
          6. ควรร่วมมือกับผู้ปกครองและผู้เกี่ยว ข้องในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

          ยังคงมีปัญหาของเด็กอีกมากมายในห้องเรียน การมองจากลักษณะภายนอก ครูไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเด็กคนใดมีปัญหาการเรียนรู้ และจะสรุปไปว่าเด็กขี้เกียจ ไม่สนใจ ถ้าครูได้แต่สอนอย่างเดียวไม่อาจใส่ใจเด็ก ไม่ศึกษาพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล เพราะพฤติกรรมบางอย่างยากต่อการสังเกต ครูไม่ควรคิดว่าเด็กทุกคนมีความรู้ความสามารถเหมือนกันหมด มีความรู้สึกนึกคิดทำนองเดียวกัน ครูจึงสอนนักเรียนเหมือนกันหมด เด็กบางคนอาจจะไม่สามารถพัฒนาไปได้ดีเท่าที่ควร เมื่อถูกละเลยนานๆ เข้าปัญหาต่างๆ จะทับถมมากขึ้นจนยากต่อการแก้ไข


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน…เพราะขี้เกียจจริงหรือ ? โพสต์เมื่อ 2 เมษายน 2553 เวลา 12:55:04
TOP