เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ พลังงานแสงอาทิตย์


เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ พลังงานแสงอาทิตย์

          ปัญหาหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง คือ การใช้แรงงานคนในการเลี้ยงปลากระชัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้า สาเหตุจากการเหวี่ยงให้อาหารปลาทีละหลาย ๆ กระชัง รวมถึงปริมาณการให้อาหารปลาที่มากหรือน้อยจนเกินไป ทำให้ปลากินอาหารไม่พอดีหรือไม่หมด จึงทำให้ปลามีการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งน้ำอาจจะเกิดการเน่าเสียจากการที่ให้อาหารปลาในปริมาณที่มากเกินไป จนปลานั้นกินไม่หมด

          วันชนะ มหาสวัสดิ์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า จากปัญหาดังกล่าว ตนจึงคิดออกแบบและพัฒนาเครื่องให้อาหารปลากระชังระบบอัตโนมัติขึ้นมา โดยนำเอาพลังงานจากธรรมชาติอย่างพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานไฟฟ้า และเพื่อลดปัญหาการให้อาหารปลาที่ไม่ตรงเวลาและการให้อาหารปลาในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งมีอาจารย์ศรศิลป์ โสภณสกุลวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา

          "จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างหลากหลาย พบว่า ผู้เลี้ยงจะมีการให้อาหารปลากระชังวันละ 3 ครั้ง ช่วงเช้า กลางวันและเย็น ปริมาณในการให้อาหารของปลาในกระชังจะแยกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ปลาเล็ก อายุตั้งแต่ 1-2 เดือน มีการให้อาหารมื้อละ 2-2.5 กิโลกรัม ส่วนปลาใหญ่อายุตั้งแต่ 2-4 เดือน มีการให้อาหารมื้อละ 2.5-5 กิโลกรัมต่อกระชัง (ตามจำนวนของปลาในกระชัง สภาพน้ำและอากาศ) จึงออกแบบให้เครื่องสามารถจุอาหารได้มากถึง 40 กิโลกรัม เพื่อที่จะสำรองอาหารไว้ให้ครบทั้ง 3 มื้อ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงเรขาคณิต เช่น ทรงสี่เหลี่ยม ปริซึม ทรงกลม ทรงกรวย ทรงกระบอก พีระมิด เป็นต้น ที่ยึดแนวทางในการออกแบบโดยอิงตามวัสดุที่เลือกใช้ จากรูปแบบ Form Follows Function เพื่อให้มีรูปทรงที่เหมาะสมกับประโยชน์ในการใช้งาน" วันชนะ กล่าว

          การติดตั้งเครื่องให้อาหารปลาในกระชังนี้ จะติดตั้งไว้บริเวณตรงกลางของกระชังปลา โดยลักษณะของเครื่องจะเป็นแบบทุ่นลอยน้ำ เพื่อที่จะจ่ายอาหารให้ปลาได้ทั่วถึงและสะดวกในการติดตั้ง โครงสร้างของเครื่องให้อาหารสามารถแยกถอดประกอบได้ 3 ส่วน คือ ส่วนโครงยึดถังใส่อาหารและแผงโซร่าเซลล์ ส่วนขายึดทุ่นลอยน้ำกับโครงยึดถังใส่อาหาร และทุ่นลอยน้ำ ทำให้สะดวกในการขนย้าย ระบบการทำงานของเครื่องให้อาหารปลาเป็นระบบการตั้งเวลา โดยใช้ Timer เป็นตัวตั้งเวลาในการทำงาน เพื่อให้เครื่องทำงานโดยอัตโนมัติจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ โครงสร้างของเครื่องโดยรวมมีขนาดกว้าง ยาว สูง 120, 150 และ 165 เซนติเมตรตามลำดับ

          แม้เครื่องให้อาหารปลากระชังระบบอัตโนมัติต้นแบบนี้ จะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง แต่มีความคุ้มค่าและยั่งยืนในเชิงเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากวัสดุทั้งหมดเป็นสแตนเลส ซึ่งทนทานต่อแดดฝนและการถูกกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี และผ่านการใช้งานจริง รวมถึงมีผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งยังได้เข้าร่วมโชว์ผลงานนี้ในนิทรรศการศิลปะนิพนธ์ 7 ห้องเครื่อง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ณ ศูนย์การค้า River City Shopping Center ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลโดยตรงได้ที่เบอร์ 083-279-2135

          อีกหนึ่งผลงานที่หยิบความคิดสร้างสรรค์และไอเดียจากรูปทรงเรขาคณิต รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ออกมาเป็นศิลปะนิพนธ์สุดเจ๋งและเป็นจริงได้

เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ พลังงานแสงอาทิตย์

เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ พลังงานแสงอาทิตย์


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เครื่องให้อาหารอัตโนมัติ พลังงานแสงอาทิตย์ โพสต์เมื่อ 8 เมษายน 2558 เวลา 18:59:44 62,497 อ่าน
TOP
x close