x close

นักเรียนเผย หากอยากได้คะแนน ต้องเดาใจคนออกข้อสอบ

 



นักเรียนเผย หากอยากได้คะแนนโอเน็ต ต้องเดาใจคนออกข้อสอบ

          นักเรียนแย้งการคิดวิเคราะห์ของแต่ละคนในการสอบโอเน็ตมีถูกหรือผิดด้วยหรือ เพราะคนย่อมมีเหตุผลของตัวเอง กลายเป็นว่าหากอยากได้คะแนนก็ต้องเดาใจคนออกข้อสอบ

          จากกรณีที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ว่ามีการปรับรูปแบบของข้อสอบจากเลือกตอบ ๑ ใน ๔ ตัวเลือกเป็นเลือกหลายตัวเลือก และให้เน้นการคิดวิเคราะห์นั้น

          นายปัญญนัฐ เลิศวัฒนากุล นักเรียนชั้น ม.๖ ประธานนักเรียนโรงเรียนเสสะเวชวิทยา กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า การบอกว่าเน้นการคิดวิเคราะห์ในข้อสอบปรนัย หากคนทำข้อสอบคิดไม่ตรงกับคนออกข้อสอบก็จะไม่ได้คะแนน ซึ่งการให้เด็กคิดวิเคราะห์นั้นดี แต่การมีคะแนนนั้นไม่ดี เพราะการคิดวิเคราะห์สามารถแตกความคิดไปได้หลายมุม การให้คนสิบคนมาคิดวิเคราะห์ก็คิดได้ไม่เหมือนกัน คำตอบที่ได้มาก็ต่างกัน

          "เราคิดมันก็เป็นเหตุผลของเรา แต่ไม่เหมือนกับของเขา แล้วจะเอาคะแนนมาจากไหน โจทย์ที่ให้มาก็กำกวม ทำให้เราไขว้เขว เราไม่รู้ว่าที่ตอบไปจะตรงใจกับคนออกข้อสอบหรือไม่ เพราะการคิดวิเคราะห์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เด็กคิดแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่คิดอีกแบบหนึ่ง คือถ้าจะให้คิดวิเคราะห์ ต้องไม่มีผิดมีถูก ไม่ควรเอาคะแนนมาวัด เพราะคำตอบทั้ง ๔ ข้ออาจถูกหมดเลยก็ได้" ประธานนักเรียนกล่าว

          นายปัญญนัฐ กล่าวว่า ปัญหาของข้อสอบโอเน็ตคือ เป็นเรื่องไกลตัวเกินไป ไม่อยู่ในหลักสูตร เช่น วิชาศิลปศึกษา การถามเรื่องดนตรีสากลที่ให้ระบุว่าเพลงนี้เป็นเพลงประเภทใด หรือบางครั้งคำตอบของข้อสอบวิชาสังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา ก็เป็นไปได้ทั้งหมด 

          นางสาวลักขณา ไวยเนตร นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนสีกันวัฒนานันท์อุปถัมภ์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า วิชาที่มีปัญหาคือสุขศึกษา เพราะมีคำตอบที่กำกวม สามารถตอบได้ทั้ง ๔ ข้อ แต่ข้อสอบให้เลือกตอบข้อที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้องเดาใจคนออกข้อสอบว่าเขาจะเฉลยอะไร ทั้งที่ในใจค้านกับคำตอบนั้น เพื่อตัวเองจะได้คะแนน นอกจากนี้การให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ๑ คำตอบ ก็เป็นปัญหา

          "หากคำถามข้อหนึ่งมีคำตอบที่ถูกทั้ง ๔ ข้อ แต่เราเลือกตอบแค่ ๓ ข้อ เราก็จะไม่ได้คะแนนเลย หนูมองว่าสังคมไทยเรายังไม่คุ้นชินกับการสอบแบบนี้ การสอบแบบนี้คือคุณต้องการเด็กเก่ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ให้สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ปิดโอกาสเด็กที่เก่งแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เด็กเดา แต่ต้องการให้เด็กรู้จริง เด็กก็ต้องเดา เพื่อให้ตรงใจกับคนเฉลยมากที่สุด" นางสาวลักขณาอธิบาย

          นักเรียนชั้น ม.๖ กล่าวถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาว่า เขาไม่ต้องการพูดในเชิงระบบที่ว่ากันว่าให้กลับไปใช้ระบบเอ็นทรานซ์เหมือนเดิม แต่เขาต้องการให้กลับไปใช้การสอบแบบเลือกข้อที่ดีที่สุดเหมือนเดิมในกรณีของการต้องเลือกคำตอบหลายข้อ และให้ข้อสอบเป็นการสอบโดยให้เป็นไปตามหลักการของวิชานั้นๆ เพราะโดยหลักการก็จะถูกของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่การวิเคราะห์แล้วคิดไปได้หลายทาง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเรียนเผย หากอยากได้คะแนน ต้องเดาใจคนออกข้อสอบ อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2553 เวลา 10:25:24
TOP