
ดร.กมล รอดคล้าย
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @JanewitC
สพฐ. ส่งจดหมายถึงทุกพื้นที่การศึกษาให้โรงเรียนผนวกค่านิยม 12 ประการ เข้าหลักสูตรการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระ จัดกิจกรรม การประกวดต่าง ๆ ปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั่วประเทศ ในการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และการเสริมสร้างค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ
โดย พล.อ. สุทัศน์ กาญจนานนท์ ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การปลูกฝังเรื่องค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการเป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องเริ่มจากในโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องเห็นความสำคัญของการที่รัฐบาลต้องการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม และเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดังนั้นการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ จะต้องยึดมั่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังให้เด็กไทยมีจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในชาติจนนำไปสู่การปฎิบัติอย่างแท้จริง
พล.อ. สุทัศน์ กล่าวต่อว่า โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงจะต้องเป็นต้นแบบในการดำเนินงานเรื่องนี้อย่างจริง เพื่อเป็นแกนนำให้โรงเรียนอื่นปฏิบัติตาม และอยากให้ผู้บริหารและครูอาจารย์สร้างแบบอย่างในการสร้างเสริมประชาธิปไตยแบบถูกต้องให้เด็กด้วย เพราะเกรงว่าเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาจะทำให้เด็กเข้าใจประชาธิปไตยแบบผิด ๆ พร้อมกับนำเรื่องค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ ไปปฏิบัติให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ โรงเรียนทั่วประเทศจะเริ่มดำเนินการบูรณการการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องพลิกโฉมให้ได้ คือไม่ใช่การเรียนเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น แต่จะต้องสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยและทำให้เด็กเกิดความรักชาติด้วย
ทั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องค่านิยม 12 ประการ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @JanewitC ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของ Voice TV ก็ได้โพสต์ภาพจดหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ลงชื่อ นายกมล รอดคล้าย ลงวันที่ 29 กันยายน 2557 แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ให้ทราบถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการ โดยมีทั้งหมด 5 ข้อ สรุปได้ดังนี้
1. ให้สถานศึกษาผนวกค่านิยมหลัก 12 ประการ ในการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีการประกวดเล่าเรื่อง อ่านทำนองเสนาะ แต่งกลอน ทำโครงงานตามแนวพระราชดำริ กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ฯลฯ
2. ให้สถานศึกษาปลูกฝังและพัฒนาค่านิยมหลัก 12 ประการให้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เน้นการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันจนเกิดเป็นพฤติกรรมยั่งยืนตามระดับชั้น ดังนี้
- ป.1-ป.3 เน้นด้านการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความกตัญญู และการมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย
- ป.4-ป.6 เน้นในด้านซื่อสัตย์ เสียสละอดทน ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียน และมีความเข้มแข็งทั้งกายใจ
- ม.1-ม.3 เน้นในด้านรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย เข้าใจ เรียนรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ม.4-ม.6 เน้นในด้านมีศีลธรรม รักษาความสัตย์ ดำรงตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
3. ให้สถานศึกษากำหนดวิธีการเรียนรู้ค่านิยมหลัก 12 ประการให้เหมาะสมกับวัยและศักยภาพผู้เรียน เช่น
- ระดับประถมศึกษา ให้เรียนรู้ผ่านบทเพลง นิทาน หรือศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
- ระดับมัธยมศึกษา ให้เรียนรู้ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ชีวประวัติบุคคลสำคัญ คนที่ทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
4. ให้ผู้บริหารสถานศึกษากำกับ ติดตาม นิเทศการดำเนินงานเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการให้บรรลุวัตถุประสงค์
5. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาติดตาม นิเทศ และประเมินสถานศึกษาที่ดำเนินการเกี่ยวกับค่านิยมหลัก 12 ประการอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประสิทธิผลชัดเจน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
