x close

เลขาฯ กอศ. ยัน ไม่เคยมีมติไม่รับเด็กสัก-เจาะหู เข้าอาชีวะ

มาตรการใหม่ ไม่รับเด็กเจาะหู-สัก เข้าเรียนอาชีวะ 21 แห่ง
มาตรการใหม่ ไม่รับเด็กเจาะหู-สัก เข้าเรียนอาชีวะ 21 แห่ง

มาตรการใหม่ ไม่รับเด็กเจาะหู-สัก เข้าเรียนอาชีวะ 21 แห่ง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก MadooTV HD สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          เลขาฯ กอศ. ยืนยัน ไม่เคยมีมติไม่รับเด็กสัก-เจาะหู เข้าเรียนอาชีวะ หลังมีการเสนอข่าว กอศ. เตรียมจะใช้มาตรการไม่รับเด็กมีปัญหาดังกล่าวเข้าเรียนใน 21 สถาบันอาชีวะศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีการศึกษา 2558
        

          วันที่ 24 กันยายน 2557 รายการพระราม 9 ข่าวเช้า ทางช่อง 9 รายงานว่า นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ได้มีมาตรการใหม่แก่วิทยาลัยอาชีวะ 21 แห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า หากนักเรียนคนใดเจาะหู สัก หรือเคยมีประวัติทะเลาะวิวาท จะไม่ให้รับเข้ารับการศึกษา ซึ่งมาตรการใหม่นี้จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2558 เนื่องจากวิทยาลัยอาชีวะเป็นวิทยาลัยที่มีความเสี่ยงในการทะเลาะวิวาท

          ทั้งนี้ เลขา กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า  หากพบว่านักเรียนในสาขาวิชาใดของ 21 วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงก่อเหตุทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง ก็จะให้แผนกหรือสาขาวิชานั้น งดรับนักศึกษา ปวช. ปี 2558 จำนวน 1-2 สาขาวิชาในบางวิทยาลัย และให้โอนย้ายครูพร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนในสาขาวิชานั้น ๆ ไปให้วิทยาลัยแห่งอื่นที่เปิดสอนแทน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นผู้อำนวยการวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมต่างก็เห็นด้วย และเชื่อว่าจะบรรเทาปัญหาการทะเลาะวิวาทลง

          จากที่มีข่าวนี้ ล่าสุดมีรายงานว่า นายชัยพฤกษ์ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว หลังจากได้มีการประชุมหารือระหว่าง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ, ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ, พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการ ทบ. และ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (24 กันยายน) ว่า ข่าวที่ได้นำเสนอออกไปนั้นไม่เป็นความจริง ที่ประชุมไม่ได้มีมติเช่นนี้ออกมา อีกทั้งการรับเด็กเข้าเป็นนักศึกษาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบันการศึกษา ซึ่งปกติก็จะรับเด็กที่มีความสนใจ ตั้งใจจะเรียนสายอาชีพ และพร้อมรับเด็กทุกคนที่มีความพร้อม

          พร้อมกันนี้ยังกล่าวว่า ในปัจจุบันเด็ก ๆ มีการเจาะหูและสักตามร่างกายกันเยอะขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนไม่ดี ไม่สามารถเรียนอาชีวะได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางกอศ. ก็พยายามรณรงค์ให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพกันมากขึ้น เพื่อผลิตบุคคลออกไปเป็นช่างฝีมือที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้ประเทศ ให้อาชีวะสร้างชาติ ซึ่งจะต้องจัดระบบการเรียนการสอนที่ดี ปลอดภัย มีคุณภาพ มีความพร้อมที่จะออกไปแล้วทำงานหรือเรียนต่อได้ทันที





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลขาฯ กอศ. ยัน ไม่เคยมีมติไม่รับเด็กสัก-เจาะหู เข้าอาชีวะ อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2557 เวลา 18:01:49
TOP