x close

กลุ่มนักศึกษาโชว์กึ๋นสะท้อนสังคมผ่านสื่อศิลป์ 16-21 ก.ย. นี้


วัยโจ๋โชว์กึ๋นสุดเก๋ สื่อศิลป์สะท้อนสังคม

วัยโจ๋โชว์กึ๋นสุดเก๋ สื่อศิลป์สะท้อนสังคม


            จากสภาพสังคมไทยที่เกิดความแตกแยกในยุคปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ที่มาจากต้นตอหลายเรื่อง หลากประเด็น อาทิ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาเรื่องการปฏิรูปพลังงาน สภาวะความเป็นอยู่ที่อย่างยากลำบาก รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เป็นต้น

            แม้ที่ผ่านมา จะมีการกล่าวถึงแนวทางปฏิรูปกันอย่างหลากหลาย แต่หากมองให้ลึกต่อการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน นับว่ายังทำได้ไม่ทั่วถึงมากนัก อีกทั้งผลผลิตที่ได้เป็นข้อเสนอที่ผ่านมา มักอยู่ในรูปแบบของเอกสารวิชาการที่คนส่วนใหญ่ทำความเข้าใจได้ยาก จนหลายคนมักละเลยเสมือนกับการมองให้ผ่าน ๆ ไป ทำให้ไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของสังคมในการตระหนัก ใคร่รู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อประเด็นสังคมต่าง ๆ ร่วมกันได้

            จากสถานการณ์ข้างต้นจึงก่อเกิดโครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่น่าอยู่จัดโดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และเครือข่ายสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มาถ่ายทอดปัญหาของสังคม ที่ถูกสะท้อนจาก ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถ เข้าถึง เข้าใจ ได้โดยง่าย ถ่ายทอดโดย นักศึกษาศิลปะจากทั่วประเทศ ที่เลือกประเด็นสังคมมาจัดทำไว้อย่างน่าสนใจ

            เริ่มที่กลุ่ม "พลังงาน" ของน้องนักศึกษาจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ที่นำเสนอปัญหาพลังงานในประเทศไทย ผ่านสื่อศิลปะแนว อินโฟกราฟิก ที่มาแจกแจงโมเดลระบบพลังงานของประเทศไทย โดย "น้องจิ๊บ" อวัสดา บุญมีเกิด ตัวแทนกลุ่มบอกถึงแนวความคิดว่า ที่เลือกประเด็นเรื่องพลังงาน เนื่องจากมองว่า เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และคนส่วนใหญ่ก็มักมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำมัน เกิดเป็นคำถามว่า ประเทศไทยของเรา มีน้ำมันอยู่จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาเรามักถูกให้เชื่อว่า ประเทศเราไม่มีแหล่งค้นพบน้ำมัน หรือถ้ามี ก็เป็นน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น



            นอกจากนี้น้องจิ๊บยังบอกด้วยว่า เมื่อตั้งคำถาม ก็ต้องหาคำตอบ อย่างเรื่องน้ำมัน ก็ไปหาข้อมูลทั้งในหนังสือ ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ และภาคประชาชน คำตอบก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่ความชัดเจนอยู่ที่ ปัจจุบันพบว่า เรื่องการจัดสรรพลังงานในประเทศไทย ยังคงเป็นแบบระบบสัมปทาน ทั้งที่ประเทศอื่นเลิกใช้ระบบนี้กันหมดแล้ว ซึ่งการคงไว้ระบบนี้ เป็นตัวการที่ทำให้ค่าน้ำมันแพงขึ้นใช่หรือไม่ เพราะอยู่ในมือของเอกชนมากเกินไป และถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อที่การใช้พลังงานของประเทศเราจะได้มีราคาถูกลง


น้องนัน สุภีนันท์เลาหชนะกูร
น้องนัน สุภีนันท์เลาหชนะกูร

            มาที่กลุ่ม "ผักเกษตรอินทรีย์" ของกลุ่มน้องจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ที่มานำเสนอแง่มุมของ ผักเกษตรอินทรีย์ ในประเทศไทย ผ่านภาพถ่ายมาเล่าเรื่อง โดย "น้องนัน" สุภีนันท์เลาหชนะกูร ตัวแทนกลุ่ม ได้บอกถึงแนวคิดว่ามีความสนใจที่จะทำเรื่องนี้ เนื่องจาก เรามีความเชื่อกันว่า ผักเกษตรอินทรีย์ เป็นผักที่น่ากิน เพราะเป็นผักปลอดสารพิษ แต่เมื่อลงลึกในการศึกษาหาข้อมูล พบว่า ผักเกษตรอินทรีย์ ตามที่เข้าใจ ก็ล้วนมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่เหมือนกัน ที่มีทั้งการทำให้ผักมีรู โดยใช้ทรายสาด เพื่อให้รู้ว่า ผักชนิดนี้มีหนอนมากิน ขณะเดียวกันก็ใช้สารเคมีร่วมด้วย เพื่อที่จะทำให้ผักที่ปลูกขายได้ น้องนันยังชี้ด้วยว่า แนวคิดของเกษตรกรที่คิดทำเช่นนี้ ถือว่ามีแนวความคิดไม่ถูกต้อง เรามีความจำเป็นต้องสะท้อนเรื่องนี้ออกไปสู่สังคม ว่าผักเกษตรอินทรีย์ ที่หลายคนคิดว่า ปลอดภัยจากสารเคมี นั้นอาจไม่ใช่ทั้งหมด ฉะนั้นการสื่อเช่นนี้ออกไป จึงถือเป็นการตักเตือนให้เกษตรกรที่คิดทำเรื่องเช่นนี้ ให้ปรับเปลี่ยนแนวความคิด หันมาปลูกผักเกษตรอินทรีย์ ที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่ร่วมกัน


น้องไจโก๊ะ ธิติพงศ์ ทั่งทอง
น้องไจโก๊ะ ธิติพงศ์ ทั่งทอง

            ขณะที่ "น้องไจโก๊ะ" ธิติพงศ์ ทั่งทอง นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็เลือกทำเรื่อง "ผักเกษตรอินทรีย์" เช่นเดียวกัน โดยเลือกการนำเสนอในรูปแบบ อินโฟกราฟิก โดยเน้นการให้ความรู้ในเรื่องของสลากตรารับรองผักเกษตรอินทรีย์ โดยน้องไจโก๊ะมองว่า สลากรับรองผักชนิดดังกล่าวนับว่ามีอยู่อย่างมากมาย หลากหลาย ซึ่งนิสัยของคนไทย เมื่อเห็นเพียงผักชนิดนี้ทำการติดสลากว่าเป็นผักเกษตรอินทรีย์ ก็เลือกซื้อทันที เพราะเห็นว่าปลอดภัยปลอดจากสารเคมี ทั้งที่ความเป็นจริง รูปแบบของสลากมีอยู่อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในบางสลากที่มีการเขียนติดไว้ อาจไม่ใช่ผักเกษตรอินทรีย์ แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจอนุญาตให้สารเคมีบางชนิดเข้ามาอยู่ในกระบวนการปลูกผักชนิดนี้ด้วย ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ จึงอยากสื่อไปยังผู้บริโภคผักชนิดนี้ ต้องคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อ

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


            ไปดูเรื่องผักเกษตรอินทรีย์ กันไปแล้ว มาดูของกินในชีวิตประจำวันใกล้ตัว อย่างเรื่อง "ข้าว" กันบ้าง ที่น้อง ๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ตั้งชื่อเรื่องอย่างสุดแก๋ว่า "เรื่องข้าวคร่าว" ที่มาบอกเล่าเรื่องข้าวและตัวมอด ผ่านนิทรรศการขนาดย่อม โดย "น้องบี" ศศิพร จอห์นสัน ตัวแทนกลุ่ม บอกว่า ที่จัดทำเรื่องข้าว เนื่องจาก เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องกินทุกวัน แต่ลงลึกในการศึกษาข้อมูลพบว่า ข้าวสารที่เรากิน ที่ดูขาวใส มาบรรจุถุงสวยงามที่ขายเรา ล้วนแต่มีการใช้สารเคมีเพื่อทำการรมตัวมอดแทบทั้งสิ้น

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

            น้องบี ยังบอกด้วยว่า แม้สารชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เกิดคำถามที่ว่า กระบวนการรมมอดมีการรมอย่างถูกวิธีหรือไม่ และมีการควบคุมจากภาครัฐอย่างเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญจะมีสารชนิดนี้ตกค้างมากน้อยแค่ไหน เพราะขึ้นชื่อว่าสารเคมี ย่อมมีอันตรายอยู่แล้ว ในทางกลับกัน หากเราหันมาบริโภคข้าวที่มีตัวมอดอาศัยอยู่ ซึ่งมักพบ ในข้าวถัง และข้าวกระสอบ ความปลอดภัยจากสารเคมีจะมีมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งการตั้งคำถามดังกล่าว น้องบีชี้ว่า เป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้ผู้รับสื่อนี้ได้ชวนคิดต่อปัญหาในสังคม ส่วนเรามีหน้าที่สะท้อนให้เห็นเท่านั้น


น้องมอส พงศธร คุ้มปรี
น้องมอส พงศธร คุ้มปรี

            ดูเรื่องของกินใกล้ตัวกันไปแล้วมาดูปัญหาสังคมที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานอย่างเรื่อง "ที่ดิน" กันบ้าง โดยน้อง ๆ จากคณะศิลปะและการออกแบบ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอมุมมองปัญหาที่ดิน ผ่านภาพถ่าย ไว้อย่างน่าสนใจ โดย "น้องมอส" พงศธร คุ้มปรี ตัวแทนกลุ่ม ได้เล่าถึงที่มาของการจัดทำว่า แรงบันดาลใจ ได้มาจาก ประชาชนผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ทั้งจากชาวเลในภาคใต้ ที่ถูกโกงโดยนายทุน และแถบภาคอีสานในบางจังหวัด จากนั้นก็มาตั้งคำถามว่า ทำไมปัญหาเรื่องที่ดินในประเทศไทย ถึงมีความเหลื่อมล้ำกันเหลือเกินและมักอยู่ในมือของนายทุนและคนรวยเสียส่วนใหญ่

ภาพถ่ายเล่าเรื่องที่ดิน
ภาพถ่ายเล่าเรื่องที่ดิน

            เมื่อได้แรงบันดาลใจนี้มา น้องมอส เล่าต่อว่า จากนั้นจึงมาคิดว่าจะทำสื่ออะไรดี ที่จะสะท้อนถึงปัญหาที่ดิน อย่างเจ็บปวดที่สุด สุดท้ายลงเอยที่ภาพถ่าย ที่สามารถสะท้อนถึง สีหน้า แววตา ของผู้ไร้ที่ดินทำกินได้อย่างดี โดยเลือกสถานที่ถ่ายภาพ บริเวณชุมชนแออัดใกล้กันกับมหาวิทยาลัย โดยกำหนดคนตีกอล์ฟ ทำท่าวงสวิง ทั้งในและนอกบ้านของชาวบ้านในรูปแบบของความรันทด สุดแสบสัน ไม่เท่านั้นยังหยิบจับ เส้นสายลายกราฟิกตี้ มาบรรยายภาพ เกิดเป็นสื่อผสมผสานที่ลงตัวชวนมอง

            น้องมอสทิ้งท้ายว่า ปัญหาเรื่องที่ดิน ต้องยอมรับว่า จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยทันทีคงยากมาก แต่เราในฐานะนักศึกษา อยากทำสื่อที่สามารถกระตุ้นเตือนไปยังสังคมว่า ปัญหาเรื่องที่ดิน เป็นสิ่งที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายภาคส่วน เพื่อคนจนจะได้มีที่ยืน มีที่ดินทำกิน ไม่เกินช่องว่าง บนทางของความเหลื่อมล้ำอย่างเช่นทุกวันนี้


น้องแจ๊ค วินัย นามวงศ์
น้องแจ๊ค วินัย นามวงศ์

            ขณะที่ "น้องแจ๊ค" วินัย นามวงศ์ จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ แม้จะเลือกทำ ปัญหาเรื่องที่ดิน แต่ก็ได้นำเสนอในรูปแบบของเกม ที่ดูสนุกสนาน แตกต่างออกไป โดยนำเสนอในรูปแบบที่คล้ายกับการเล่นของ "เกมเศรษฐี" ที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ มีทั้งการทอดลูกเต๋า และคู่มือการเล่น ซึ่งหยิบความรู้ทางกฎหมายเรื่องสิทธิด้านที่ดินของคนตัวเล็กตัวน้อย มาบอกเล่าไว้เพื่อประกอบการเล่นเกม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารให้สังคมเห็นความสำคัญในเรื่องสิทธิด้านที่ดินของคนตัวเล็กตัวน้อย และทำให้ข้อมูลด้านสิทธิที่ดินทางกฎหมายไม่ใช่เรื่องที่เข้าถึงยากหรือน่าเบื่ออีกต่อไป

เกมเศรษฐี
เกมเศรษฐี

            น้องแจ็ค ทิ้งท้ายว่า ปัญหาที่ดินทำกัน ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาเรื้องรังในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จากการลงพื้นที่ดูปัญหาที่ดิน ทั้งในต่างจังหวัด หรือแม้แต่ใน กทม. ก็ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังเสียที

            ปิดท้ายด้วยเรื่องราวเรื้อรังที่เสมือนกับมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมไทยมายาวนานอย่างปัญหา "การคอร์รัปชั่น" กันบ้าง สร้างสรรค์โดยน้อง ๆ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตรศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาบอกเล่าการโกง การทุจริตในสังคมไทย ผ่านนิทรรศการไว้อย่างน่าชม โดย "น้องภัทร" ภัทร เพียรถนอม ตัวแทนกลุ่ม บอกถึงแนวความคิดว่า ที่หยิบจับเรื่องนี้มาเนื่องจาก การทุจริตการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ดูเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไปเสียแล้ว

การคอร์รัปชัน

            ยกตัวอย่างเช่น เรื่องบัตรสมาร์ทการ์ด ที่ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว ก็ยังมีการทุจริตกันเกิดขึ้น ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่า บัตรสมาร์ทการ์ด ที่ว่านี้ มันเป็นมากกว่า บัตรประชาชน ที่สามารถเป็นได้ทั้ง บัตรกดเงิน ใบขับขี่ ฯลฯ ซึ่งโครงการที่มีการจัดทำสมาร์ทการ์ดกันมา โดยใช้งบประมาณจำนวนมากนั้น เกิดเป็นคำถามว่า ทำไมถึงทำได้เพียงเป็นแค่บัตรประชาชนเท่านั้น เป็นเพราะ มีการทุจริตเกิดขึ้นใช่หรือไม่ เสมือนกับการ เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน

            จากโจทย์ต่อการปิดหูปิดตาประชาชน เกี่ยวกับเรื่องการทุริต จึงนำแนวคิดนี้มาจัดทำเป็นกล่อง 3 ใบ ที่แทนด้วย การปิดหู ปิดตา ปิดปาก โดยแต่ละกล่องมีภาพวาดเกี่ยวกับ การทุจริตการคอร์รัปชั่นอยู่ด้านใน เสมือนกับว่า หากดูผิวเผินที่ตัวกล่อง อาจไม่รู้ว่ามีอะไร แต่เมื่อเปิดกล่องดู จะพบเรื่องราวการทุจริตการคอร์รัปชั่นที่น่าตกใจ

            น้องภัทรยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุจริตการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย นับเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทางเราก็สามารถทำได้เพียง การสื่อออกไปเป็นประเด็นแบบปลายเปิด เพื่อให้ผู้รับสารได้คิด เข้าใจ ที่ปัจจุบันการโกง ไม่ได้มีเฉพาะ การทุจริตยิบย่อยซึ่งหน้าอีกต่อไป แต่เป็นการโกงในรูปแบบเชิงนโยบาย ที่กินกันแบบมโหฬาร ซ้ำร้ายยังมีการปิดหูปิดตาประชาชนด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่งในสังคมไทย

            ผลงานสื่อศิลป์ สะท้อนปัญหาสังคม ของน้อง ๆ นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันที่ว่านี้ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายชิ้นงาน ที่มีความมุ่งหมายสำคัญใน การปลูกฝังการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นเตือน และตระหนักถึงปัญหา ผ่านสื่อศิลป์ประเภทต่าง ๆ ที่สามารถทำเข้าใจได้โดยง่าย เพื่อจุดมุ่งหวังสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมในทุก ๆ ด้าน โดยสามารถติดตามผลงานน้อง ๆ เหล่านี้ได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเสนอผลงานวันที่ 16 กันยายน และแสดงงานนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 16-21 กันยายน 2557 รับรองว่าถ้าได้มาดูจะมองปัญหาสังคมไทยได้กว้างขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลุ่มนักศึกษาโชว์กึ๋นสะท้อนสังคมผ่านสื่อศิลป์ 16-21 ก.ย. นี้ อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2557 เวลา 17:07:21
TOP