พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
พระมหาไพรวัลย์ เทศน์สอนอาจารย์ธรรมศาตร์ หลังมีคลิปไม่สอนเด็กวัดแชร์ว่อนเน็ต บอกไร้ความเป็นกัลยาณมิตร
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2557 มีรายงานว่า ภายหลังจากที่มีคลิปวิดีโอคลิปหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงภาพของการเรียนการสอนวิชา TU130 สหวิทยาการวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนวิชานี้ ได้ออกมาต่อว่านักศึกษาที่นั่งเรียนอยู่ที่พื้นว่าเป็นเด็กวัด จนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย ล่าสุด พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้ออกมาแสดงความคิดความเห็นในเรื่องนี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยดัง ถึงไม่อยากสอนเด็กวัด
ทั้งนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อาจารย์ท่านนี้บกพร่องทางจิตวิญญาณ ลืมรากเหง้าของการเรียนหนังสือในวัด และถึงแม้ว่าจะเป็นถึงครูบาอาจารย์ ก็ยังเป็นแบบอย่างให้เด็กไม่ได้ ไม่มีความเอื้อเฟื้อเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์
หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามากดไลค์ ให้กำลังใจ และแชร์ข้อความของพระมหาไพรวัลย์เป็นจำนวนมาก บ้างก็เห็นด้วยกับที่พระมหาไพรวัลย์พูด บ้างก็แจ้งว่าอาจารย์ท่านนี้โกรธ เพราะนักศึกษาไม่ยอมนั่งเก้าอี้กันตามระเบียบ แต่กลับนั่งลงที่พื้น จึงหลุดปากพูดคำว่าไม่สอนเด็กวัด ไม่เกี่ยวกับการที่อาจารย์ไม่อยากสอนเด็กวัดจริง ๆ แต่อย่างใด
สำหรับข้อความของ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ มีดังต่อไปนี้
"อาตมาได้ชมคลิปกรณีที่อาจารย์สอนของมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ไม่พอใจที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งนั่งพื้น ฟังการบรรยายของตน พร้อมทั้งตำหนินักศึกษาเหล่านั้นด้วยถ้อยคำว่า
"นั่งพื้น ฉันไม่สอน เพราะเหมือนเด็กวัด"..."ทำตัวเป็นเด็กวัด"
จากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้อาตมามองเห็นถึงอะไรบางอย่างที่บกพร่องในจิตวิญญาณของความเป็นครูของอาจารย์ท่านนี้
อาตมากำลังตั้งข้อสงสัยว่า ท่านอาจารย์ท่านนี้ ท่านลืมไปหรือเปล่าว่า ก่อนที่บ้านเมืองของเราจะเจริญรุ่งเรือง ทัดเทียมนานาประเทศนั้น ในรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น คนที่อ้างตัวว่า เป็นคนมีการศึกษาทั้งหลาย โดยเฉพาะก็เหล่ากุลบุตรที่เป็นผู้ชาย ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการเล่าเรียนจากวัดด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ สมัยที่ทรงพระเยาว์ ก็ทรงอักษรที่วัด สมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลาง ให้การศึกษาทั้งในเรื่องของธรรมจริยาและวัฒนธรรม เท่าที่จะอำนวยให้ได้ ภายหลังจึงมาเห่อเหิมตามแบบตะวันตกกัน
เราเรียนกันจากวัด แล้วพระสมัยก่อน เวลาท่านบอกหนังสือ ท่านไม่ได้สอนแต่วิชาความรู้อย่างเดียว ท่านสอนจรณะ คือความประพฤติด้วย สอนให้เด็กมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักบาปบุญคุณโทษ แม้แต่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็ต้องเรียนจากวัดทั้งนั้น นี่สำคัญเลย จะเห็นได้จากเจ้านายสมัยก่อนที่นิยมให้พระโอรสของตนที่พอรู้เดียงสาแล้ว ผนวชเป็นเณรอยู่วัด ถ้าเป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนา ก็ต้องมาอยู่เป็นเด็กวัด จึงจะพอมีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะวิชาต่าง ๆ เพื่อเอาตัวรอดได้บ้าง
นี่ท่านไม่เข้าใจเรื่องนี้ แถมยังใช้คำพูดเชิงดูถูกเด็กวัดว่ามีสถานะต่ำต้อยกว่านักศึกษาตามหาวิทยาลัยอีก อาตมาฟังแล้วก็รู้สึกสังเวชอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าท่านศึกษาประวัติศาสตร์มาบ้าง หรือเรียนรู้จากความเป็นจริงของระบบการศึกษาในสังคมไทย ที่เอื้อเฉพาะต่อลูกของคนมีเงินเท่านั้น ท่านจะต้องไม่พูดอย่างนี้ ท่านจะต้องไม่มองว่าเด็กวัดต่ำต้อยกว่าเด็กตามมหาวิทยาลัย เด็กวัดมันก็อยากเรียนไม่ต่างจากเด็กมหาวิทยาลัยหรอกท่าน ถ้ามันมีปัญญาหาเงินเรียนได้ หรือมหาวิทยาลัยให้มันเรียนฟรี บางทีพวกนี้ ดีไม่ดี มันฉลาดกว่าลูกผู้ดีอีก จริงอยู่ ในเรื่องวิชาความรู้ในตำรา เด็กวัดอาจจะสู้เด็กมหาวิทยาลัยไม่ได้ แต่ในเรื่องของประสบการณ์การใช้ชีวิต การต่อสู้ การดิ้นรน การรู้จักช่วยเหลือ เกื้อกูลตัวเองและครอบครัว ให้อยู่รอดปลอดภัย อย่างไม่ต้องอดตายนั้น เด็กวัดอาจจะมีมากกว่า เด็กตามมหาวิทยาลัยที่เรียนนั่งเรียนอยู่ในห้องแอร์ แต่ยังแบมือขอเงินพ่อแม่ใช้ก็ได้
เรื่องที่ต้องตระหนักยิ่งไปกว่านั้น คือท่านสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาตมาสงสัยว่า ธรรมศาสตร์ไม่ได้สอนให้ท่านรักเด็กวัดเลยหรือ ท่านต้องไม่ลืมนะว่า มหาวิทยาลัยนี้ก่อตั้งขึ้นก็ด้วยท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเห็นถึงความเลื่อมล้ำทางการศึกษาของคนในประเทศ ท่านต้องการให้ประชาชนมีความรู้ ให้ลูกไพร่ ลูกคนชั้นล่าง ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทัดเทียมกับพวกลูกท่านหลานเธอทั้งหลาย แล้วนี่อะไรกัน พอมาถึงวันนี้ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยนี้เสียเอง กลับพูดออกมาได้อย่างไม่ละอายว่า "ฉันไม่สอนเด็กวัด"
มันเป็นเช่นนั้นเอง ! คนเป็นครูบาอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้สอนเป็นแต่ในหนังสือ แต่สอนนอกหนังสือไม่เป็น เป็นแบบอย่างให้คนไม่ได้ ดูเอาจากความเป็นจริง อาจารย์เดี๋ยวนี้เขาสอนอะไร เขาสอนแต่ว่าเด็กจะต้องเรียนเก่ง เด็กจะต้องจำให้ได้ในสิ่งที่เขาอยากให้จำ ต้องมีความประพฤติเรียบร้อย อยู่ในกรอบตามที่ตนเองต้องการ คิดอย่างที่ตนเองอยากให้คิด พูดอย่างที่ตนเองอยากให้พูด เหมือนที่นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า มหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ สอนให้คนกลายเป็นปศุสัตว์เชื่อง ๆ ที่สั่งซ้ายหันขวาหันก็ต้องได้ดั่งใจ อาตมาอยากบอกว่า อาจารย์จำนวนไม่น้อยยังมากด้วยทิฐิมานะ และติดกับวิธีการสอนที่ดูจะหัวโบราณเกินไป ไม่รับฟังนักศึกษาเลย ว่าพวกเขามีความคิดความเห็นอย่างไร และอยากให้อาจารย์ปรับเปลี่ยนสิ่งใดเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาในยุคสมัยใหม่ของพวกเขาบ้าง มันจึงเป็นปัญหา
นี่สำคัญนะ เพราะคนเป็นอาจารย์ ต้องเป็นกัลยาณมิตรของลูกศิษย์ให้ได้ คำว่า อาจารย์ แปลว่า ผู้ที่ประพฤติตนเอื้อเฟื้อต่อลูกศิษย์ คำ ๆ นี้มาจากภาษาบาลี ถ้าคนเป็นอาจารย์ไม่ประพฤติตนเอื้อเฟื้อต่อศิษย์เมื่อไหร่ ความหมายของความเป็นอาจารย์มันก็ไม่เหลือ จะเหลือแต่ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ของเรือจ้างก็เท่านั้น ขอเตือนท่านทั้งหลายที่เป็นอาจารย์เอาไว้ ให้ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ให้มาก"