x close

แนะทำวิจัย ก่อนลดการบ้าน พิสูจน์เด็กไทยเรียนหนักจริงหรือ


แนะทำวิจัย ก่อนลดการบ้าน พิสูจน์เด็กไทยเรียนหนักจริงหรือ
แนะทำวิจัย ก่อนลดการบ้าน พิสูจน์เด็กไทยเรียนหนักจริงหรือ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี แนะกระทรวงศึกษาธิการ ทำวิจัยการจัดการเรียนการสอนก่อนสั่งลดการบ้าน เพื่อให้ได้รู้ว่าเด็กไทยเรียนหนักจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

          เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ รวมทั้งการขอให้สถานศึกษาทั่วประเทศ ลดจำนวนการบ้านที่ให้เด็กนักเรียนในแต่ละวันลง หลังจากพบว่าเด็กนักเรียนต้องใช้เวลาทำการบ้านมากจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่แต่ละวิชาจะมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกันอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก เพราะเกรงว่าการปรับลดการบ้านอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

          ล่าสุด (3 กันยายน 2557) นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้มากล่าวเปิดงานครบรอบ 9 ปี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และเฉลิมฉลองการครบรอบ 130 ปี แห่งการวัดและประเมินผลของไทย โดย นพ.เกษม กล่าวตอนหนึ่งว่า ความรู้กับคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน การจัดการศึกษาจำเป็นต้องปลูกฝังทั้ง 2 สิ่งควบคู่กันไป อย่าแยกความรู้กับความดีออกจากกันเด็ดขาด แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีการแยกความรู้กับคุณธรรมออกจากกัน ดังนั้น โรงเรียนต้องมีนโยบายการพัฒนาความดีคู่ความรู้ เพราะความรู้กับคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน

          นพ.เกษม กล่าวต่อว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายลดเวลาเรียน ลดการบ้าน เพราะกลัวเด็กเรียนหนักเกินไปนั้น  ก็ไม่ต่างจากการลดคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย และหากต้องการลดการบ้าน หรือลดเวลาเรียนจริง ก็ควรมีการทำวิจัยการจัดการเรียนการสอนก่อนว่า เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า เด็กไทยเรียนหนักจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ  นอกจากนี้ ควรลงโทษการโกงการสอบอย่างจริงจังและรุนแรง เพราะระบบการศึกษาที่ดี ควรเป็นระบบการศึกษาที่สร้างคนดี คนเก่ง และเสียสละ เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

          สำหรับสิ่งที่น่ากังวลใจเมื่อเปรียบเทียบการศึกษาไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ระดับการศึกษาไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จึงอยากขอให้ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา ทั้งกระทรวง เขตพื้นที่ และโรงเรียนออกนโยบาย และข้อปฏิบัติที่เพิ่มคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก คือ

          1. ครูคุณภาพมีจำนวนที่พอเพียง โดยคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องช่วยกันผลิตครูคุณภาพ ขณะที่ครูประจำการ 400,000 คน ต้องมีเป้าหมายในการเพิ่มคะแนนโอเน็ตภายในกี่ปี และต้องมีผู้รับผิดชอบด้วย

          2. มีนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครูที่ถูกทาง เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา ครูมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ครูที่มีหนี้สินไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มที่ เมื่อเราเรียกร้องให้ครูเสียสละ ก็ต้องช่วยเหลือครูด้วย อาทิ เรื่องบ้านพัก การเดินทาง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าหากครูยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะสามารถช่วยให้ครูมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีได้ไม่ยาก 

          3. การเสนอผลงานทางวิชาการ โดย ก.ค.ศ. ควรทำให้ง่าย เพื่อไม่ให้ครูเสียเวลามากจนทำให้ไม่มีเวลาเตรียมการสอน

          4. ยกเลิกโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน ซึ่งพบว่าบางครั้งมีมากถึง 50-60 โครงการ ทำให้ครูและผู้บริหารไม่มีเวลาสอน

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 

 
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะทำวิจัย ก่อนลดการบ้าน พิสูจน์เด็กไทยเรียนหนักจริงหรือ โพสต์เมื่อ 3 กันยายน 2557 เวลา 17:07:50 1,109 อ่าน
TOP