x close

รับน้องโหด เตือนรุ่นพี่ระวังติดคุก มีโทษตามกฎหมาย


รับน้องโหด เตือนรุ่นพี่ระวังติดคุก มีโทษตามกฎหมาย
รับน้องโหด เตือนรุ่นพี่ระวังติดคุก มีโทษตามกฎหมาย (แฟ้มภาพ)


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สปริงนิวส์

          รับน้องโหด มีโทษตามกฎหมาย เตือนรุ่นพี่รับน้องรุนแรงคิดให้ดี ทำเกินไประวังติดคุก เปิดกฎหมายรับน้อง เลิกค่านิยมรับน้องโหด

          หากกล่าวถึงข่าวที่กำลังทำให้คนในสังคมไทยเกิดความสลดใจอยู่ในขณะนี้ คงเป็นข่าวของน้องกัน หรือนายโภไคย แสงโรจน์รัตน์ อายุ 16 ปี นักศึกษาชั้น ปวช. ปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี ที่เสียชีวิตจากการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องริมทะเล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องบอกเลยว่าน้องกัน ไม่ใช่เหยื่อรายแรกที่เสียชีวิตจากการรับน้อง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข่าวการรับน้องเสียชีวิตออกมาอยู่เรื่อย ๆ โดยสาเหตุส่วนมากจะมาจากการถูกรุ่นพี่บังคับให้ทำกิจกรรมที่รุนแรง อาทิ การทิ้งดิ่งโดยใช้ศีรษะทิ่มลงไปบนพื้นทราย

          อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การรับน้องในเชิงไม่สร้างสรรค์และรุนแรงนั้น ผิดวินัยและผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอม ได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการรับน้องมาให้ได้ทราบกัน ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

          มาตรา 29 การจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

          มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทํามิได้

          มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทํามิได้

          มาตรา 52 เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสําคัญ เด็กและเยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมทั้งมีสิทธิได้รับการบําบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว การแทรกแซงและการจํากัดสิทธิเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทํามิได้


ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

          มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี

          มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตาม มาตรา 297 ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี

          มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 392 ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตราย สาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 

          ทั้งนี้ พ.ต.ท. หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติและจิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น หากจะดำเนินคดีตามกฎหมายจะต้องให้นักศึกษาหรือผู้ปกครองเข้าแจ้งความเอาผิดกับรุ่นพี่ที่ลงโทษเกินกว่าเหตุ แต่บางกิจกรรมหากไม่ได้รุนแรงและเป็นข้อตกลงระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง อยู่ในการควบคุมดูแลของมหาวิทยาลัย ก็ถือเป็นบททดสอบในการก้าวเป็นรุ่นพี่ เพื่อทำหน้าที่ดูแลรุ่นน้องในรุ่นต่อไป

          อย่างไรก็ตาม การรับน้องนั้นยังมีอีกหลากหลายวิธีในเชิงสร้างสรรค์ อาทิ การพาน้องใหม่ไปเข้าค่ายปลูกป่า จัดกิจกรรมเข้าวัดทำบุญ หรือทำบุญตามบ้านพักคนชรา มีสันทนาการร้องเพลง เต้นกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ถือว่าเป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องพึ่งสุราและความรุนแรงอีกด้วย




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับน้องโหด เตือนรุ่นพี่ระวังติดคุก มีโทษตามกฎหมาย อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2559 เวลา 10:13:45 2,019 อ่าน
TOP