x close

สารเติมเลือด นวัตกรรมใหม่ของทีมวิจัย ม.นเรศวร


 สารเติมเลือดชนิดใหม่ สารกันเลือดแข็งตัว

สารเติมเลือดชนิดใหม่ สารกันเลือดแข็งตัว
 
 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบตุณภาพประกอบจาก phitsanulokhotnews.com

            มหาวิทยาลัยนเรศวร โชว์นวัตกรรมใหม่ สารเติมเลือด เชื่อช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการตรวจหาสารต่าง ๆ ในเลือดของแพทย์ได้

            เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยนวัตกรรมใหม่ คือ "สารเติมเลือดชนิดใหม่สำหรับงานตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์" โดยสารเติมเลือดใหม่นี้ จะถูกนำมาใช้เคลือบไว้ที่หลอดเก็บเลือด (Lithium heparin PLUS 3 in 1) ที่ต้องนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ โดยเป็นผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นของ ผศ.ดร.วันวิสาข์ ตรีบุตรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ หัวหน้าคณะวิจัย และนักเทคนิคการแพทย์หญิงเรณู วิริยะประสิทธิ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก ที่สามารถไปคว้ารางวัล Silver Prize และ Special Prize (on Stage) จากงาน "Seoul International Invention Fair (SIIF) 2013" ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีมาแล้ว

สารเติมเลือดชนิดใหม่ สารกันเลือดแข็งตัว

            ทั้งนี้ ผศ.ดร.วันวิสาข์ ตรีบุตรสกุล และนักเทคนิคการแพทย์หญิงเรณู วิริยะประสิทธิ์ เจ้าของงานวิจัย "สารเติมเลือดชนิดใหม่สำหรับงานตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์" ได้เปิดเผยรายละเอียดของงานวิจัยว่า การคิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ มาจากความต้องการของผลการตรวจสารชีวเคมีที่เร่งด่วนของแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน และปัญหาการปั่นแยกซีรัม ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจวิเคราะห์ผลเลือดอย่างมาก ไม่เหมือนกับกรณีการตรวจวิเคราะห์น้ำตาลกลูโคส ที่สามารถใช้สารกันเลือดแข็งชนิด โซเดียมฟลูออไรด์ (Sodiumfluoride, NaF) เพื่อยับยั้งกระบวนการสลายกลูโคส เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่า หากแพทย์ต้องการทั้งกลูโคสและสารชีวเคมีอื่น ๆ ที่อยู่ในเลือดซึ่งเป็นการตรวจประจำวันแล้ว ก็จำเป็นต้องเจาะเลือดผู้ป่วย จำนวน 2 หลอด แต่หากต้องการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพิ่ม ก็เท่ากับว่า ต้องเจาะเลือดผู้ป่วยเพิ่มอีก 1 หลอด รวมทั้งหมดจำนวน 3 หลอด

            ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอน และลดปริมาณเลือดของผู้ป่วยที่จำต้องใช้ในการตรวจวิเคราะห์ผลเลือดลง ทางทีมวิจัยจึงได้คิดค้น "สารเติมเลือด" ขึ้นมา โดยสารเติมเลือดนี้เป็นผลผลิตจากสารละลาย จำนวน 3 ชนิด ที่มีความเข้มข้นและสัดส่วนที่เหมาะสม ประกอบด้วย

            1. สารละลายกลีเซอรอลดีไฮด์

            2. น้ำตาลแมนโนส

            3. สารละลายลิเทียมเฮปารีน

สารเติมเลือดชนิดใหม่ สารกันเลือดแข็งตัว

            นอกจากนี้ สารละลายส่วนประกอบยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านการสลายน้ำตาลกลูโคส (antiglycolytic agent) ของเซลล์เม็ดเลือด ทำให้ช่วยยับยั้งการใช้น้ำตาลกลูโคสในพลาสมาจากเม็ดเลือดได้เร็วกว่าการใช้ NaF อีกทั้งยังมีข้อดีอีกหลายประการ คือ

            1. ไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (hemolysis)

            2. ไม่ทำให้เกิด fibrin clot หรือ partial clot ในพลาสมา

            3. ไม่รบกวนการตรวจสารชีวเคมีอื่น ๆ ในทางเคมีคลินิกอีก 18 รายการ ได้แก่ totalprotein, albumin, creatinine, BUN, alarnineamino transferase (ALT), aspatate amino transferase (AST), APL, lactate dehydrogenate (LDH), total bilirubin, direct bilirubin, total cholesterol, triglyceride, high density lipoprotein cholesterol (HDLc), low density lipoprotein cholesterol (LDLc), uric acid, sodium (Na), potassium (K), chloride (CI)

            นอกจากนี้ หลอดเก็บเลือดที่มีสารเติมเลือดใหม่เคลือบไว้ ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเก็บเลือด OPD เพื่อให้ผู้ป่วยที่มารับบริการได้ผลการตรวจสารชีวเคมีเพื่อพบแพทย์ได้เร็วขึ้น รวมถึงยังเป็นประโยชน์ต่อการออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาในการเก็บเลือดจากกลุ่มเด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยวิกฤติ ที่เก็บเลือดได้ปริมาณน้อยหรือเก็บเลือดได้ยาก เนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็ก เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
phitsanulokhotnews.com


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สารเติมเลือด นวัตกรรมใหม่ของทีมวิจัย ม.นเรศวร อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2557 เวลา 16:18:18 2,527 อ่าน
TOP