x close

จากหุ่นยนต์กู้ภัย ถึง ดินสอ เอ็มเค






จากหุ่นยนต์กู้ภัย ถึง"ดินสอ"เอ็มเค (ข่าวสด)

          เปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ให้ชาวไทยรู้จักหน้าค่าตากันไปแล้วรวมถึงเมื่อวันเด็กที่ผ่านมา ปี 2553 "น้องดินสอ" หุ่นยนต์หน้าตาน่ารัก ฝีมือคนไทย จะออกมารับออร์เดอร์เมนูอาหารในร้านเอ็มเคสุกี้

          หุ่นยนต์ต้นแบบตัวนี้คือหนึ่งในผลิตผล จากสมาชิกส่วนหนึ่งใน "ทีมอินดิเพนเดนต์" อดีตนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอม เกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ที่เคยสร้างชื่อและความภาคภูมิใจให้คนไทย ด้วยการสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยบุกตะลุยในสนามแข่งขันสุดหิน กระทั่งคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสองสมัยแรกให้ประเทศไทย โค่นคู่แข่งชาติเจ้าเทคโนโลยี

          วันนี้ 5 ขุนพล ส่วนหนึ่งสำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย ก้าวสู่ฝันทั้งในและต่างประเทศ

          เริ่มจาก นายพินิจ เขื่อนสุวงค์ หรือ โน้ต ทำงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์นิวเคลียร์ในต่างประเทศ นายธงชัย พจน์เสถียร หรือ กอล์ฟ กำลังศึกษาต่อ นายสุชาติ จันลี หรือ แจ๊ค เป็นวิศวกรที่บริษัท เครือซิเมนต์ไทย

          ส่วนอีก 2 หนุ่ม นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว หรือ ยิ้ม วัย 31 ปี และ นายเนติ นามวงศ์ วัย 26 ปี ร่วมอยู่ในทีมสร้างหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ หรือ "หุ่นยนต์น้องดินสอ" ตัวนี้


          หุ่นยนต์ดินสอ หรือ "หุ่นยนต์ CT" ผลผลิตภายใต้บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ตั้งเป้าส่งมอบหุ่นยนต์ 10 ตัวให้บริษัทยักษ์ใหญ่เอ็มเค เรสเตอรองต์ กลางปีนี้

          หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เสียงตอบรับล้นหลาม มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งสนใจอยากนำหุ่นยนต์ไปบริการประชาชน

          จุดเริ่มต้นเกิดจากการรวมตัวระหว่างผู้ที่ถนัดด้านธุรกิจและวิศวกรรม ได้แก่ นายนันทวิทย์ จันทร์วาววาม นายวินิจฉัย ศรียะราช นายเนติ นามวงศ์ และ นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว ที่ถนัดและสนใจด้านหุ่นยนต์เป็นทุนเดิม โดยนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาต่อยอด สร้างหุ่นยนต์ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามห้างสรรพสินค้า หากกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก หุ่นยนต์จะโชว์โฆษณาของเล่น ขนม ถ้าเป็นผู้หญิงจะนำเสนอเรื่องเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยหุ่นยนต์จะวิเคราะห์ว่าผู้ที่พบเห็นเป็นใครแล้วจะโชว์โฆษณาชิ้นนั้นๆ ออกมา

          ทั้ง 4 หนุ่มส่งแผนงานเข้าประกวดในโครงการแผนธุรกิจนวัตกรรมวาณิชย์ ครั้งที่ 1 จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศร่วมมาครอง ทำให้ นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด สนใจติดต่อขอร่วมลงทุน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) โดยพวกเขาร่วมถือหุ้นคนละ 5 เปอร์เซ็นต์

          จากภาพสเกตช์ หุ่นยนต์ "I MOV" ที่นอนนิ่งบนแผ่นกระดาษ ซึ่งมาจากความประทับใจ ไอแซ็ก อาซิมอฟ ผู้แต่งเรื่อง"ไอ โรบอต" จึงถือกำเนิดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "หุ่นยนต์ดินสอ" หุ่นยนต์ต้นแบบที่สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ทดสอบระบบความเป็นไปได้ของวัสดุแรง ทั้งยังกลายเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบของหุ่นยนต์ที่จะส่งมอบให้เอ็มเค 

          ยิ้มเล่าถึงการทำงานของหุ่นยนต์ดินสอนี้ว่า หุ่นยนต์นี้มีส่วนสูง 120 ซ.ม. ยกของหนักได้ 5 ก.ก. พนักงานจะเป็นคนใช้งาน สั่งงานได้ 2 วิธีคือ การใช้คำสั่งเสียง และสั่งงานจากคอม พิวเตอร์ ซึ่งออกแบบโปรแกรมที่ง่ายต่อการสั่งงาน
 
         เมื่อได้รับคำสั่งให้หุ่นยนต์ไปเสิร์ฟอาหารโต๊ะไหน เวลาเท่าไหร่ หุ่นยนต์จะเดินตามเส้นที่ขีดไว้บนพื้น หากใครเดินมาขวางเส้นทางปฏิบัติงานหุ่นยนต์จะทำหน้างงหรือมีอารมณ์โกรธนิดหน่อย เมื่อมาถึงโต๊ะอาหารแล้วจะเป็นหน้าที่ของลูกค้าหยิบอาหารเอง 

          เสร็จหน้าที่แล้ว มันจะกลับไปยังห้องครัวเพื่อรอรับอาหารนำไปเสิร์ฟต่อไป หรือถ้าไม่ต้องเสิร์ฟจะคอยต้อนรับลูกค้าอยู่หน้าร้าน กล่าวทักทายลูกค้าพร้อมแนะนำตัวเอง

          ยิ้มเล่าถึงความต่างจากหุ่นยนต์กู้ภัยว่า เป็นหุ่นยนต์เหมือนกันแต่ใช้งานคนละประเภท และมีภารกิจคนละรูปแบบ การออกแบบหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์นี้คล้ายกับหุ่นยนต์ทำงานบ้าน หรือโรบอตแอตโฮม ต้องการออกแบบให้เป็นมิตรกับคนมากขึ้น ต่างจากหุ่นยนต์กู้ภัย ส่วนความยากง่ายต่างกันมาก ตัวใหม่นี้ยากกว่าเยอะ จุดเด่นเขาต้องมีหน้าจอแสดงสีหน้า อารมณ์ได้หลากหลาย พูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้ รวมถึงฟังก์ชันการทำงานที่ต้องเน้นและให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ที่ต้องดูดี ตอนนี้ยังต้องปรับปรุงเรื่องฮาร์ดแวร์ การหยิบจับสิ่งของด้วยแขนกล

          "การทำหุ่นยนต์ต้องประกอบกัน 3 ส่วน คือ ฮาร์ดแวร์ที่เป็นเครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบไฟฟ้า และซอฟต์แวร์ ผมเป็นคนกลางที่ต้องคุยกับทุกคนว่าจะทำอย่างไรให้ทั้ง 3 อย่างไปด้วยกันได้"

          ยิ้มกล่าวว่า วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น หวังว่าใน 10 ปีข้างหน้าอย่างน้อยบ้านหนึ่งหลังมีหุ่นยนต์สัก 1 ตัว ที่มีบทบาทกับชีวิตประจำวัน และยังอยากทำหุ่นยนต์กู้ภัยหรือหุ่นยนต์กู้ระเบิดไปขายทั่วโลก

          มาที่ เนติ ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม สอนด้านไอที ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาและดูแลเรื่องของซอฟต์แวร์ให้บริษัท เล่าว่า ตัวหุ่นที่ทำอยู่นี้อาจมีความอัจฉริยะไม่เท่าหุ่นยนต์ที่ทำไปแข่งขัน ถ้าเราทำให้มันฉลาดมาก ราคาก็สูงขึ้น ขายไม่ได้ แต่หุ่นยนต์เหล่านี้นำไปต่อยอดและเป็นพื้นฐานของโรบอตแอตโฮมได้

          แม้จะมีพื้นฐานการทำหุ่นยนต์มาก่อน แต่เมื่อได้ลงมือทำหุ่นยนต์หนนี้ต้องศึกษาเพิ่มเติมเยอะ ทั้งด้านแม็กคานิก ดีไซน์ ซอฟต์แวร์ที่ต้องมีความฉลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อนๆ ทีมเดียวกันและต่างทีมที่รู้จักกัน เช่น ทีมพลาสมาซี จากจุฬาลงกรณ์ อดีตแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยเช่นกัน

          "อยากเห็นมันออกมาเดินจริงๆ เหมือนญี่ปุ่นที่มีหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม แต่หุ่นยนต์มีราคาสูง แม้ว่าเด็กบ้านเรามีความสามารถ แต่ส่วนใหญ่จบมาแล้วจะไปต่างประเทศ ทั้งเรียนและทำงาน เพราะบ้านเรายังไม่มีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์รองรับจริงจัง

          สำหรับหุ่นยนต์กู้ภัย ลำพังตัวเองคงทำไม่ได้เพราะติดเรื่องงบประมาณ ถ้าโอกาสมาพวกเราก็พร้อมทำ แต่ต้องดูงานและเงื่อนไข

          ถ้าพร้อมและมาในจังหวะที่พอดีก็พร้อมทำ เพราะใจรักและยังอยากทำอยู่"


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

คอลัมน์ สดจากเยาวชน
ปฤษณา กองวงค์

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากหุ่นยนต์กู้ภัย ถึง ดินสอ เอ็มเค โพสต์เมื่อ 12 มกราคม 2553 เวลา 17:13:09 1,056 อ่าน
TOP