x close

พลาสติกชีวภาพเอ็มเทค





พลาสติกชีวภาพเอ็มเทค (เดลินิวส์) 

          แสดงฝีมือในฐานะเป็นศูนย์แห่งชาติ กับ...ผลงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของแท้ ฝีมือนักวิจัยไทยที่ได้มาตรฐานสากล

          จากปัญหาสภาพแวดล้อม และขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ทำให้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ปัจจุบันพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพที่มีสมบัติตรงตามมาตรฐานสากลกำหนดนั้นยังไม่มีการผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหรือนำเข้าเม็ดพลาสติกที่ผสมเสร็จแล้ว ทำให้ราคาสูงและกลายเป็นข้อจำกัดด้านการใช้งานในประเทศ
    
          ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค โดยกลุ่มวิจัยพลาสติกชีวภาพ ห้องปฏิบัติการเคมีโพลิเมอร์ จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่มีสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวภาพขึ้น
  
          ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย หัวหน้าทีมนักวิจัยจากเอ็มเทค  บอกว่าเอ็มเทคทำการวิจัยครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนากระบวนการผลิต การทดสอบการใช้งานของวัสดุ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น
    
          ซึ่งการพัฒนากระบวนการผลิตได้เลือกใช้แป้งมันสำปะหลังที่มีราคาถูกกว่า และเป็นพืชที่ปลูกเองในประเทศเป็นวัตถุดิบแทนแป้งข้าวโพดที่ใช้กันอยู่ในการผลิตเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ที่นำเข้าอยู่ในปัจจุบัน
    
          พลาสติกชีวภาพที่ได้ มีการปรับปรุงสูตรการผลิตจนสามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถาดใส่อาหาร ช้อนส้อม ที่มีเนื้อเรียบเหนียวไม่แตกต่างจากพลาสติก ทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้ 100%
    
          ยืนยันความสามารถในการย่อยสลาย ตามหลักมาตรฐานสากล ไม่ใช่แค่แตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ เมื่อโดนแดดอย่างที่บางคนอาจเข้าใจผิด
    
          แต่ผลงานชิ้นนี้ สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและมวลชีวภาพและสามารถย่อยสลายได้ในระบบกำจัดขยะอินทรีย์ทั่วไป
    
          อย่างเช่น ถุงพลาสติกเพาะชำต้นไม้  สามารถนำไปปลูกลงกระถางได้ทันทีโดยไม่ต้องถอดออก เพราะจะย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติกลายเป็นปุ๋ยของต้นไม้ในเวลาประมาณ 3-6 เดือน
    
          ดร.ธนาวดี บอกอีกว่า โชคดีที่เอ็มเทคทำอย่างครบวงจร โดยตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพตามมาตร ฐานสากลขึ้น ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทดสอบผลงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพ ไม่ต้องส่งไปทดสอบไกลถึงยุโรป
    
          ปัจจุบันอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโน   โลยีให้กับบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ ในประเทศ
    
          ...ซึ่งอนาคตคนไทยจะมีโอกาสร่วมลดโลกร้อนกับการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่ใช้เทคโนโลยีของไทย ลดการนำเข้าแถมยังเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรอีกด้วย !!!.


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

นาตยา คชินทร
nattayap@dailynews.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลาสติกชีวภาพเอ็มเทค โพสต์เมื่อ 12 มกราคม 2553 เวลา 14:11:26
TOP