ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ku
สอบ U-NET ชักวุ่น สภานิสิต ม.เกษตรฯ ร่างหนังสือยกเหตุผล 7 ข้อ ชี้ สอบ U-NET ไม่ตอบโจทย์วัดศักยภาพนิสิต เตรียมยื่นเสนออธิการฯ พิจารณาไม่สมัครใจสอบ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 นายทัดชมน์ กลิ่มชำนิ ประธานสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ออกหนังสือแถลงการณ์ "ไม่สมัครใจเข้าร่วม U-NET" เพื่อเตรียมยื่นให้อธิการบดี และคณะผู้บริหารได้พิจารณา เนื่องจากทางสภาผู้แทนนิสิตไม่เห็นด้วยกับการสอบ U-NET
ทั้งนี้ สภาผู้แทนนิสิต มองว่า การสอบ U-NET เป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนเพื่อการสอบ และรายวิชาที่จัดสอบก็ไม่ตอบโจทย์กับการชี้วัดศักยภาพของนิสิต อีกทั้งมองว่านิสิตจะสูญเสียโอกาสพัฒนาตัวเองตามด้านที่ถนัด เพราะต้องเอาเวลาไปทำคะแนนสอบ นอกจากนี้ สถาบันแต่ละแห่งมีการจัดการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน เป็นการก่อให้เกิดวัฒนธรรมการแข่งขันเพื่อชิงคะแนน มุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและองค์ประกอบอื่น
นายทัดชมน์ กลิ่มชำนิ ประธานสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
"ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้มติให้มีการดำเนินการจัดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET) แก่นิสิตชั้นปีสุดท้าย ในปีการศึกษา 2557 โดยจะมีการจัดสอบใน 4 วิชาคือ 1. การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2. การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3. การใช้สารสนทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต :การรู้เท่าทันสื่อ และ 4. การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Media Literacy) และการอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ซึ่งในปีแรกจะจัดสอบให้กับสถาบันการศึกษาที่สมัครใจเท่านั้น
ในการนี้สภาผู้แทนนิสิต ได้มีการประชุมกันในกรณีดังกล่าวและได้เปิดให้นิสิตได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมโดยมีมติคัดค้านการเข้าร่วมการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET) ด้วยเหตุดังในต่อไปนี้
การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาเฉพาะด้านตามความสนใจ ถนัด และศักยภาพเฉพาะด้านของผู้เรียนที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างระบบการคิดวิเคราะห์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ การใช้ข้อสอบเพียงชุดเดียวเพื่อชี้วัดศักยภาพของผู้เรียน จึงเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการ "เรียนเพื่อสอบ" บ่อนทำลายการแสวงหาความรู้นอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรมใหม่ ๆ อันเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาพึงมี
รายวิชาที่จัดสอบไม่ตอบโจทย์ในการชี้วัดศักยภาพนิสิต และมีความซ้ำซ้อนกับการสอบอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้นิสิตสูญเสียเวลาในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง เสริมสร้างประสบการณ์ ตลอดจนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตหลังจบการศึกษา เพราะต้องทุ่มเทเวลาไปกับการเตรียมตัวสอบ
การสอบในบางวิชา เช่น การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Media Literacy) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ถือเป็นการกำหนดกรอบความคิดให้ผู้เรียนด้วยข้อสอบเพียงฉบับเดียว โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานทัศนคติ บริบทสภาพแวดล้อมในความเป็นจริง ที่ทุกคนมีความแตกต่างกัน และควรใช้วิจารณญาณของตนเองในการแก้ไขปปัญหาได้อย่างอิสระ โดยปราศจากการชี้ ถูก ผิด โดยข้อสอบ ซึ่งเป็นการกดทับอิสระทางความคิด และกีดกันการพัฒนาการคิดของบัณฑิตไทย ซึ่งเป็นปัญหาทางการศึกษาของชาติในปัจจุบัน
การจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET) ถือเป็นการตั้งคำถามและต่อศักยภาพในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยทั้งที่มีหลักสูตรการเรียนการสอน และวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่แตกต่างกัน เป็นการก่อให้เกิดวัฒนธรรมการแข่งขันเพื่อชิงคะแนน มุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและองค์ประกอบอื่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคต
การประเมินคุณภาพการศึกษาสามารถกระทำได้ด้วยวิธีอื่น ทั้งการประกันคุณภาพ ดัชนีการมีงานทำของนิสิต และวิธีอื่น ซึ่งเป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุด ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด และมีผลกระทบน้อยที่สุด มาพัฒนาระบบการศึกษาของไทยไม่ใช่ด้วยวิธีการเพิ่มภาระให้นิสิต นักศึกษา และสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
สภาผู้แทนนิสิต คำนึงถึงเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการมุงสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติที่ต้องตอบสนองต่อการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาในให้ประชาชนทุกชนชั้น เพื่อเป็นสะพานสู่โอกาสในการทำงานตามศักยภาพของตนเองในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป การจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับอุดมศึกษา (U-NET) จึงเป็นบ่อนทำลายโอกาสในการทำงานตามศักยภาพของตนในด้านต่าง ๆ ด้วยการวัดคุณค่าของบัณฑิตด้วยคะแนนสอบ โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน และศักยภาในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อนิสิตในด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป สุดท้ายจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการเกิดใหม่ของสถาบันกวดวิชาเพื่อเตรียมรับการทดสอบดังกล่าว
สภาผู้แทนนิสิตเล็งเห็นว่าในปี 2558 ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานมีความเข้มข้นมากยิ่วขึ้น ตลอดจนสภาพทางสังคมก็จะมีความหลากหลายขึ้น นิสิตที่กำลังจะจบการศึกษาจึงควรใช้เวลาเพื่อพัฒนาตนเองให้รองรับการแข่งขันตามด้านที่ตนถนัด ฝึกฝนตนเอง แสวงหาโอกาส และเสริมสร้างประสบการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อเตรียมพร้อมกับระบบสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไป ไม่ควรเสียเวลาเป็นภาระกับการจัดทดสอบดังกล่าวซึ่งไร้ประโยชน์ และเป็นที่เคลือบแคลงในมาตรฐานของข้อสอบจากสถิติขององค์กรผู้ออกข้อสอบเอง
ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ให้ใช้อำนาจตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2549 มาตรา 19(4) ในการเสนอแนะการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "ไม่สมัครใจ" เข้าร่วมการทดสอบดังกล่าว
ทั้งนี้ สภาผู้แทนนิสิตจะร่วมกับองค์การบริหาร องค์การนิสิต ในการออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดการทดสอบดังกล่าว และเข้าร่วมกับเครือข่ายผู้นำนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพื่อคัดค้านการจัดสอบอย่างเต็มที่ต่อไป"
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก