เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ต่อต้านการสอบ U-Net จากสทศ.
นิสิตไทยลุกฮือ ! ต้านสอบ U-NET จวก สทศ. เละ ใช้เงินโดยใช่เหตุ ไม่เกิดประโยชน์ บอกนิสิตและนักศึกษาบางคณะจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพของสายอาชีพนั้น ๆ อยู่แล้ว ส่วนเรื่องเอาผล U-NET มาพิจารณาเข้าทำงาน ควรปล่อยให้นายจ้างตัดสินใจเองดีกว่า
จากกรณีที่ วานนี้ (24 เมษายน 2557) ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติให้จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET เพื่อประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามที่กฎหมายกำหนดโดยยึดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF โดยจะนำร่องเริ่มทดสอบนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นสุดท้ายของทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่สมัครใจเข้ารับการทดสอบ ใน 4 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต การรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
และในปีการศึกษา 2558 ทาง สทศ. จะเพิ่มการทดสอบอีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านทักษะวิชาชีพ และด้านคุณธรรม จริยธรรมจากนั้นจะจัดทดสอบในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกต่อไป
อย่างไรก็ดี สำหรับการสอบของนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ทาง สทศ. จะประสานไปยังนายจ้างของสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อขอให้ใช้ผล U-NET เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้น ๆ
ทั้งนี้ เมื่อข่าวการสอบ U-NET แพร่กระจายออกไป ทำให้บรรดานิสิตและนักศึกษาไม่พอใจ พร้อมตั้งกระทู้คำถามมากมาย ว่า เพราะเหตุใดต้องสอบ U-NET ด้วย ทั้ง ๆ นิสิตและนักศึกษาบางคณะจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพของสายอาชีพนั้น ๆ ด้วย อาทิ บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์บางมหาวิทยาลัยจะต้องสอบวิชาชีพวิศวกร (ก.ว.) กับสภาวิศวกร, บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ก็ต้องสอบเนติ เพื่อเอาใบประกอบวิชาชีพจากเนติบัณฑิตยสภา เป็นต้น ส่วนเรื่องการนำผล U-NET เป็นส่วนหนึ่งในนายจ้างมาพิจารณาเข้ารับทำงานนั้น ขอให้เป็นการตัดสินใจของนายจ้างดีกว่า
นอกจากนี้ กลุ่มนิสิตและนักศึกษาไทย ที่ไม่พอใจกับมติการสอบ U-NET แล้ว ยังตั้งเพจเฟซบุ๊กต่อต้าน โดยใช้ชื่อว่า "ต่อต้านการสอบ U-Net จาก สทศ." และหลังจากก่อตั้งเพจเพียงวันเดียว ก็มีชาวเน็ตที่เห็นด้วยในการต่อต้าน กดไลค์กว่า 18,000 คนแล้ว (ข้อมูลเวลา 08.32 น. วันที่ 25 เมษายน 2557)
รวมไปถึงตั้งแคมเปญ "ยกเลิกจัดสอบ U-NET" ล่ารายชื่อให้ สทศ. ยกเลิกการทดสอบดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า...
"การสอบ U-NET ไม่ได้ช่วยวัดความรู้และมาตรฐานของบัณฑิตระดับปริญญาตรีได้จริง ๆ และไม่สามารถชี้วัดอะไรได้เลยกับตัวนักศึกษา เพราะแต่ละสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีหลักสูตรในการสอนที่ต่างกัน ที่สำคัญหลังจากสอบมาแล้วบริษัทไม่มีความสำคัญที่จะต้องนำคะแนนส่วนนี้มาใช้รับคนเข้าทำงาน สิ่งที่ สทศ. กำลังทำนั้นกำลังทำให้ทุกอย่างมันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา ยังคงวนเวียนอยู่กับการสอบ ไม่มีเวลาในการคิดสิ่งสร้างสรรค์และทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น และ ที่สำคัญที่สุด ตัวนิสิต นักศึกษาไม่ยินยอมแก่ระบบการสอบดังกล่าว และ เป็นการเปลืองระบบงบประมาณโดยใช่เหตุ"
โดยขณะนี้มีคนลงชื่อถึง 4,000 ลายเซ็นแล้ว พร้อมทั้งโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายเลยทีเดียว