เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
กยศ. เตรียมลงดาบคนเบี้ยวเงินกู้เพื่อการศึกษา หลังมียอดคงค้างหนี้ กยศ. กว่า 65% พร้อมขอความร่วมมือนายจ้าง และจะส่งชื่อเข้าเครดิตบูโร
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "บทบาทของสถานศึกษากับความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานกองทุน" ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยเป็นการสัมมนาในระดับผู้บริหาร เกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า ทาง กยศ. ควรคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เพียงพอต่อการบริหารกองทุน และต้องหันมาจัดการกับคนที่เบี้ยวหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา เลิกเกรงใจคนโกง เงิน กยศ. ถือเป็นเงินภาษีของประชาชนและคนจนด้วย เพราะคนที่เบี้ยวหนี้คือคนโกง นอกจากจะโกงเงินแล้วยังโกงโอกาสของรุ่นน้อง ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรอบรมจิตสำนึกให้นักศึกษามีความรับผิดชอบต่อสังคม
ด้านนางฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. เผยว่า ตอนนี้มีจำนวนเงินที่ครบกำหนดต้องชำระกว่า 72,412.13 ล้านบาท และมีผู้ค้างชำระกว่า 38,238.93 ล้านบาท ถือเป็น 53% ของจำนวนเงินที่ต้องชำระทั้งหมด โดยนักศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มียอดคงค้างกว่า 65% และรองลงมาคือมหาวิทยาลัยเอกชนอยู่ที่ 62% ซึ่งในปีนี้ กยศ. จะตรวจสอบรายชื่อผู้ค้างชำระจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อทราบที่ทำงาน ที่อยู่ และลงนามเพื่อขอความร่วมมือกับนายจ้างให้ตรวจสอบลูกจ้างที่เคยกู้เงิน กยศ. ว่าให้รีบชำระเงินคืน และภายในปี 2561 จะมีการนำชื่อของผู้ค้างชำระเงินตั้งแต่ปี 2539 เข้าเครดิตบูโร
ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหานั้น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะสามารถกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ที่กู้ กยศ. ก็สามารถเปลี่ยนมากู้ กรอ. ได้ ส่วนผู้กู้รายใหม่ที่ยังเรียนอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังมีทุนจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะแบ่งเบาภาระได้ อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้งกับประชุมคณะกรรมการ กยศ. วันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก