x close

รวมพลเยาวชน วิจัยฝนดาวตก คุณค่าที่มากกว่าการดูดาว





รวมพลเยาวชน วิจัยฝนดาวตก คุณค่าที่มากกว่าการดูดาว (มติชนออนไลน์)
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

        หนึ่งร้อยหกสิบสาม ทิศตะวันออกครับ หนึ่งร้อยหกสิบสี่ ทิศใต้ .. ทางนี้!หนึ่งร้อยหกสิบห้าทิศเหนือ...." เสียงขานการนับจำนวนฝน ดาวตกที่สลับกันไปมาจากเยาวชนกว่า 100 ชีวิต ที่พร้อมใจกันเดินทางมาจากทั่วภูมิภาคเพื่อทำวิจัยฝนดาวตกในกิจกรรม สัมผัสไอหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์ 2552 จัดโดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิดำรง ลัทธพิพัฒน์ ณ หอดูดาวเกิดแก้ว อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 12 - 14 ธันวาคมที่ผ่านมา

        "เป็นครั้งแรกสำหรับการดูฝนดาวตกและทำวิจัยเกี่ยวกับฝนดาวตกด้วย" โบ๊ท หรือ ด.ช.สมรักษ์ ทรัพย์ทวี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ก่อนจะเล่าต่อว่า เขาและเพื่อนๆ เดินทางมาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม เพื่อร่วมกิจกรรมเตรียมความพร้อมในการทำวิจัยฝนดาวตกก่อน โดยทันทีที่มาถึงหอดูดาวเกิดแก้ว พวกเราได้รับการฟังบรรยายพิเศษเรื่องฝนดาวตกเจมินิดส์  จากนาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ 

        จากนั้นได้ทำกิจกรรมประดิษฐ์แผนที่ดาววงกลม เพื่อปูพื้นฐานความรู้เรื่องกลุ่มดาว พร้อมกับได้ทดลองประกอบกล้องโทรทรรศน์ รวมถึงการฝึกซ้อมการนับฝนดาวตก ส่วนในวันที่สองจะเน้นในเรื่องของการทำงานวิจัย โดยจะมีการแบ่งหน้าที่เป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนแรก คือ ผู้ที่ทำหน้าที่นับดาว ซึ่งจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 5 คน ทั้งนี้เพื่อนๆ 4 คนจะนอนศีรษะชนกันเป็น 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และตะวันตก ซึ่งทุกคนจะต้องคอยนับดาวตกด้วยการเปล่งเสียงดังๆ เมื่อดาวตกในทิศนั้นๆ เพื่อให้เพื่อนอีกคนที่เหลือคอยจดบันทึกข้อมูล นอกจากนั้นแล้วส่วนที่สอง จะทำหน้าที่เก็บภาพฝนดาวตกด้วยคอมพิวเตอร์และกล้องวีดีโอดิจิตอลความไวแสง สูง เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับทำงานวิจัยและใช้เป็นสื่อการสอนต่อไป

        สำหรับบรรยากาศในการนับฝนดาวตก น้องเอิร์ท หรือ ด.ช.ธฤตมน นันทวรรณ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอนุบาลแพร่ จังหวัดแพร่ เล่าว่า พวกเราเริ่มนับฝนดาวตกตั้งแต่เวลา 00.05-03.05 น. ของวันที่ 14 ธันวาคมครับ โดยในชั่วโมงแรกคือเวลา 00.05 - 01.05 น. นับฝนดาวตกได้ 155 ดวง/ชั่วโมง พบไฟร์บอลจำนวน 9 ดวง เวลา 01.05 - 02.05 น. มีฝนดาวตกจำนวน 155 ดวง ไฟร์บอล 4 ดวง และเวลา 02.05 - 03.05 น. มีฝนดาวตกจำนวน 165 ดวง/ชั่วโมง และไฟร์บอล 6 ดวง จากนั้นเริ่มมีเมฆบดบังทำให้ไม่สามารถนับต่อไป จึงแยกย้ายกันเข้านอนก่อนจะมาสรุปข้อมูลต่อในช่วงเช้า 

        ซึ่งจากการเฝ้าสังเกตตลอดทั้งคืนแม้ว่าจะง่วงนอนบ้างแต่ก็ประทับใจมากๆ โดยเฉพาะการได้เห็นไฟร์บอล เป็นดาวตกดวงใหญ่ที่ตกใกล้กับชั้นบรรยากาศของโลกมากที่สุด ทำให้เกิดการเผาไหม้มีควัน เราจะเห็นเหมือนลูกไฟ เห็นชัดและมีหลายสี ทั้งสีเขียว เหลือง ส้ม ขาว แตกต่างกันไปตามธาตุที่เป็นองค์ประกอบครับ ทำให้สวยงามมากกว่าดาวตกทั่วๆ ไป  และอาจารย์บอกว่าถ้าอยู่ใกล้ก็จะได้ยินเสียงด้วยนะครับ

        ด้าน \'น้องมุมตัซ" หรือ นางสาว มุมตัซ เชตเตอร์โมฮามัด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมดูฝนดาวตก ไม่เพียงดีใจที่ได้เห็นดาวตกนับร้อยดวงแล้ว การได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งในการทำวิจัย ทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่ามาก เพราะไม่ได้แค่สังเกตแล้วก็ผ่านไป แต่ข้อมูลที่ช่วยกันบันทึกยังสามารถนำมาวิเคราะห์เป็นสถิติ และจัดทำเป็นคู่มือการดูฝนดาวตกสำหรับคนทั่วไปได้อีกด้วย

        "สนุกและได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ เมื่อก่อนเข้าใจว่าดาวตก คือดาวที่ตกลงมาบนโลก แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าเกิดจากจากธารอุกกาบาตของดาวหาง ส่วนฝนดาวตกเจมินิดส์ ก็ยังแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเกิดจากธารอุกกาบาตของ ดาวเคราะห์น้อย 3200 ฟีธอน ดังนั้นอุกกาบาตจึงมีขนาดใหญ่ และมีไฟร์บอลจำนวนมากด้วย ที่สำคัญจากการได้ทำงานวิจัยก็ทำให้ทราบถึงวิธีการนับฝนดาวตกเจมินิดส์ที่ ถูกต้อง คือ เวลาที่เห็นดาวตกเราต้องลองลากเส้นย้อนกลับไปว่ามีทิศทางออกมาจากกลุ่มดาวคน คู่หรือไม่ ถ้าใช่จะนับเพื่อบันทึกข้อมูล แต่ถ้ามาจากทิศทางอื่นๆจะไม่นับ เพราะจะถือว่าเป็นดาวตกพเนจร การได้ลองทำงานวิจัยจากเรื่องง่ายๆ ในวันนี้ แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็ทำให้มีพื้นฐานในการทำงานที่อาจจะนำพาเราไปสู่การทำงานวิจัยที่ยิ่ง ใหญ่ในอนาคต" มุมตัซ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

        นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ กล่าวว่า หอดูดาวเกิดแก้วจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์อย่างต่อเนื่องนับ ตั้งแต่ปี2549 เป็นต้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ได้ใช้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาเป็นโจทย์สำหรับฝึกทำวิจัยนับปริมาณฝนดาวตก วัดพิกัดเรเดียนท์ของฝนดาวตก เพื่อศึกษาความแตกต่างของฝนดาวตกเจมินิดส์ในแต่ละปี  ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงฝึกนักเรียนได้ทดลองทำงานวิจัย  มีทักษะในการดูดาวอย่างถูกต้อง และรู้จักการทำงานร่วมกันแล้ว  ท้ายที่สุดยังได้คู่มือการเรียนรู้เรื่องฝนดาวตกของประเทศไทย โดยฝีมือเยาวชนไทย ที่สำคัญการนำปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สวยงามในธรรมชาติมาจัดกิจกรรมให้ เด็กๆได้เรียนรู้ จะช่วยกระตุ้นความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ได้อีกมาก

        สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้ สามารถติดตามชมได้ในช่วงวันที่ 13-14 ธันวาคม ปี 2552 เพราะไม่มีแสงของดวงจันทร์รบกวนเช่นกัน นอกจากนี้ในวันที่15 มกราคมปี 2553 ที่กำลังจะมาถึงยังมีปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ซึ่งประชาชนที่สนใจชมปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถติดตามได้ตั้งแต่เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมพลเยาวชน วิจัยฝนดาวตก คุณค่าที่มากกว่าการดูดาว อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2553 เวลา 21:33:09
TOP