นักวิจัย ม.อ. พัฒนาปะการังเทียมต่อเนื่อง ลดวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่ง สร้างที่อาศัยให้สัตว์น้ำ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สร้างที่อยู่ให้สัตว์น้ำ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพแก่พี่น้องประชาชนภาคใต้ เตรียมวางปะการังเทียมเพิ่มที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดนิทรรศการ "สร้างบ้านให้ปลา รักษาหาดทราย" เพื่อนำเสนอการพัฒนาพัฒนาปะการังเทียมเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สร้างที่อยู่ให้สัตว์น้ำ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเปิด "อาคารวิจัยวิศวกรรมประยุกต์ สิรินธร" ในวันที่ 16 มกราคม 2556
ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ) หัวหน้างานวิจัยปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่ง เปิดเผยว่า เมื่อปี 2557 ได้พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นพื้นที่วงกว้างในภาคใต้ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน บ้านเรือนเสียหาย ขาดที่ทำกิน และมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายรุนแรงในอนาคต อีกทั้งพบว่าที่ผ่านมาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และสร้างผลกระทบในเชิงลบให้เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเริ่มศึกษาวิจัยการทำปะการังเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 7 ปี
การวิจัยเริ่มจากการรวบรวมข้อมูล สำรวจหาพื้นที่ชายฝั่งที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และปรึกษาหารือกับชาวบ้านถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการศึกษาวิจัยโดยการจำลองปะการังเทียมด้วยคอมพิวเตอร์ จากนั้นนำมาสร้างเป็นแบบจำลองทางกายภาพ โดยทดลองวางในรางจำลองคลื่น ที่สร้างขึ้นที่ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ซึ่งเป็นรางจำลองคลื่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่กำลังใช้งานอยู่ในขณะนี้ เพื่อที่จะพัฒนาออกแบบรูปร่างหน้าตาของปะการังเทียมสามารถสลายพลังงานคลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จากการศึกษาวิจัยเพื่อการออกแบบปะการังเทียม ทำให้ได้ปะการังเทียมที่มีลักษณะเป็นรูปทรงโดมฐานเปิด ทำจากปูนซีเมนต์ สูงประมาณ 1 เมตร 70 เซนติเมตร หนักประมาณ 3-4 ตัน โดยนำไปทดลองเชิงปฏิบัติการ ทดลองวางครั้งแรกที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี ผลในเบื้องต้นค่อนข้างดีมาก นับว่าเป็นปะการังเทียมที่มีโครงสร้างที่สามารถสลายพลังงานคลื่นได้มากที่สุด มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ แข็งแรงมากที่สุด สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดี สัตว์น้ำอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้มากที่สุด
ผศ.พยอม กล่าวเพิ่มเติมว่า มีแผนที่จะนำปะการังเทียมไปวางที่บ้านปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในเดือนมีนาคม 2557 และนำไปวางที่บ้านตันหยงเปาว์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และที่ บ้านกูบู ต.ไพรวัลย์ จ.นราธิวาส ในปี 2558 ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาออกแบบรูปทรงปะการังเทียมให้บางลง เพื่อประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง แต่ยังคงสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ดี และสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สร้างความมั่นคงทางด้านทรัพยากรทางทะเล ฟื้นฟูทรัพยากรประมง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์