เด็กไทยน่าห่วง ! ผลทดสอบ 3 วิชา คะแนนต่ำกว่านานาชาติ


เด็กไทยน่าห่วง ผลทดสอบ 3 วิชา คะแนนต่ำกว่านานาชาติ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


            เผยผลการประเมินเด็กไทย 3 วิชา คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-การอ่าน เด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์นานาชาติ ยกเว้นเด็กจุฬาภรณ์-สาธิตฯ คะแนนสูงเทียบนานาชาติ

            เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556 นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้จัดการโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ได้แถลงผลการประเมินผลนักเรียนของไทยประจำปี 2012 ว่า จากการประเมินผลของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี จำนวน 6,606 คน จาก 239 โรงเรียนทุกสังกัด ใน 3 ด้าน คือ ด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์นั้น ผลที่ได้เมื่อเทียบกับนานาชาติยังไม่น่าพอใจนัก

            โดย การประเมินผลด้านคณิตศาสตร์ นักเรียนได้คะแนนเฉลี่ย 427 คะแนน ซึ่งแม้จะเพิ่ขึ้นจากปี 2009 ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 419 คะแนน แต่ก็ยังต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ได้ 494 คะแนน

            นางสุนีย์ ให้ข้อมูลว่า มีทั้งหมด 65 ประเทศที่เข้าร่วมประเมินด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งคะแนนของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 50 และหากวิเคราะห์แล้วจะพบว่า นักเรียนร้อยละ 50 มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน โดยเฉพาะนักเรียนสายอาชีวศึกษา ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ เซี่ยงไฮ้-จีน 613 คะแนน ตามมาด้วย สิงคโปร์ 573 คะแนน และฮ่องกง 561 คะแนน 

            ขณะที่ผลทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ ว่า นางสุนีย์ เผยว่าเด็กไทยได้ 444 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่ได้ 425 คะแนน ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 501 คะแนน ซึ่งปีนี้เด็กไทยอยู่อันดับที่ 47 ส่วนที่ 1 ยังเป็นเซี่ยงไฮ้-จีน ที่ได้คะแนนมากที่สุดถึง 580 บาท ตามมาด้วยสิงคโปร์ 551 คะแนน และญี่ปุ่น 547 คะแนน ผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักเรียนไทยร้อยละ 34 มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะจำนวนลดลงจากการประเมินปี 2009

            ส่วนด้านสุดท้ายคือด้านการอ่านนั้น ผู้จัดการ PISA ระบุว่า ปีนี้เด็กไทยได้คะแนน 441 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ที่มี 420 คะแนน แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ที่ 496 คะแนน และเช่นเดียวกัน นักเรียนจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ยังคงทำคะแนนได้สูงสุด คือ 570 คะแนน รองลงมาคือ ฮ่องกง 545 คะแนน และสิงคโปร์ 542 คะแนน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 48 มีนักเรียนร้อยละ 33 ที่มีทักษะด้านการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐาน แต่ก็เป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปี 2009

            นางสุนีย์ ยังกล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ผลการทดสอบของนักเรียนไทย หากแยกเป็นรายโรงเรียน จะพบว่า นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และกลุ่มโรงเรียนสาธิต มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และมีคะแนนเท่ากับกลุ่ม 10 ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนเอกชน โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนักเรียนอาชีวะจะเป็นกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กไทยน่าห่วง ! ผลทดสอบ 3 วิชา คะแนนต่ำกว่านานาชาติ โพสต์เมื่อ 5 ธันวาคม 2556 เวลา 09:59:48 1,085 อ่าน
TOP
x close