มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยสำเร็จ ผลิต "ถั่งเฉ้า" จากดักแด้ไหมแห่งแรกของไทย
ทีมวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จผลิต "ถั่งเฉ้า" จากดักแด้ไหมได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากกรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพิ่มมูลค่าดักแด้ไหมไทย ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ด้วยราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60,000-100,000 บาท
รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน-ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก
รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน และอาจารย์ ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก ผู้จัดทำโครงการวิจัยผลิตถั่งเฉ้า จากดักแด้ไหม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ถั่งเฉ้า มีความหมายว่า หญ้าหนอน เป็นเชื้อรากินแมลงซึ่งมีฤทธิ์ทางยา ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ และเป็นอาหารเสริมสุขภาพ มีสรรพคุณทางด้านต่าง ๆ อาทิ รักษามะเร็ง บำรุงร่างกาย บำรุงไต หัวใจ ปอด หลอดลม กล่องเสียง เสริมอายุวัฒนะ ป้องกันเบาหวาน ความดัน เสริมสมรรถภาพทางเพศ และยังเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางทำให้ผิวขาวใส ผิวหน้ากระชับตึง ด้วยสรรพคุณมากมายนี้ทำให้ถั่งเฉ้ามีความต้องการในท้องตลาดสูง และมีราคาถึงกิโลกรัมละ 60,000-100,000 บาท
โครงการวิจัยผลิตถั่งเฉ้าจากดักแด้ไหมในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานงานวิจัยใน "โครงการศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงเชื้อรา Isaria tenuipes บนดักแด้ไหม (Bombyx mori) เพื่อผลิตเป็นถั่งเฉ้า" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ กรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยที่ผ่านมาโครงการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าใน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ถั่งเฉ้าสีทอง และถั่งเฉ้าหิมะ ซึ่งใช้ข้าวเป็นฐานในการเพาะเลี้ยง ปรากฏว่าประสบความสำเร็จสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าให้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินการต่อยอดการวิจัยดังกล่าว ด้วยการร่วมกับกรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยในโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ดักแด้ไหม และสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม เนื่องจากหากเพาะเลี้ยงดักแด้ไหมเพื่อขายตามปกติจะมีราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าจะได้ราคาที่สูงกว่าอีกหลายเท่า นับเป็นการเพิ่มมูลค่าดักแด้ไหมไทย สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม เพิ่มความมั่นคงในอาชีพผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมให้ดีขึ้น
สำหรับแนวความคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าบนดักแด้ไหมเกิดจากสภาพตามธรรมชาติของถั่งเฉ้าที่เจริญเติบโตบนตัวหนอนหรือแมลงอยู่แล้ว แต่การทดลองเพาะเลี้ยงที่ผ่านมาใช้วัสดุอื่นเป็นฐานในการเพาะเลี้ยง จนกระทั่งเมื่อสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าหิมะและถั่งเฉ้าสีทองได้สำเร็จ จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะลี้ยงบนแมลงอีกทางหนึ่ง และจากความร่วมมือกับกรมหม่อนไหม จึงได้เลือกใช้ดักแด้ไหมมาเป็นวัสดุในการเพาะเลี้ยง และเลือกเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้่าหิมะก่อนเป็นชนิดแรก
การเพาะเชื้อราบนดักแด้ไหมมีขั้นตอน คือ การนำดักแด้ไหมแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วฉีดสารละลายเข้าไปในตัวดักแด้หนอนไหม หรือจุ่มดักแด้ในสารละลายที่มีหัวเชื้อราถั่งเช่าหิมะ หลังจากนั้นนำไปเก็บในห้องมืดที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 25-30 วันเพื่อให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่
จากทดลองมาอย่างต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนดักแด้ไหมจากกรมหม่อนไหม พบว่าสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าหิมะบนดักแด้ไหมได้สำเร็จและให้ผลผลิตเป็นอย่างดี จึงเตรียมที่จะทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าสีทองบนดักแด้ไหมเป็นลำดับต่อไป เนื่องจากการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าบนดักแด้ไหมทำให้ได้ถั่งเฉ้าที่มีสารสำคัญต่าง ๆ ในปริมาณมากกว่าถั่งเฉ้าที่ได้จากการใช้ข้าวเป็นฐานเพาะเลี้ยง
นอกจากการทดลองเพาะเลี้ยงแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้ทดลองเกี่ยวกับการแปรรูปถั่งเฉ้าที่ได้ในลักษณะต่าง ๆ เช่น นำมาทำเป็นยา สกัดสารเคมีมาใช้ในด้านเวชสำอาง หรือประยุกต์วิธีการบริโภคง่าย ๆ เช่น อบแห้งในรูปแบบของชา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประสานไปยังหน่วยงานอื่น ๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์หรือคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อศึกษาว่าจะสามารถนำถั่งเฉ้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยง รวมถึงสารต่าง ๆ ที่สกัดได้จากถั่งเฉ้ามาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
ราคาขายถั่งเฉ้าในท้องตลาดปัจจุบัน หากเป็นถั่งเฉ้าสีทองราคากิโลกรัมละประมาณ 60,000-100,000 บาท ส่วนถั่งเฉ้าหิมะราคากิโลกรัมละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การผลิตถั่งเฉ้าแห้ง 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ถั่งเฉ้าสดประมาณ 6-10 กิโลกรัม โดยถั่งเฉ้าสีทองนิยมนำไปใช้ในการรักษาและบำรุงสุขภาพ ส่วนถั่งเฉ้าหิมะนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง
นับได้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่แรกของประเทศไทย ที่สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อราบนดักแด้ไหมไทยได้ และปัจจุบันคณะผู้วิจัยกำลังต่อยอดโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่