สพฐ. สรุปตกซ้ำชั้นแค่ ป.1-3 ถ้ายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีกขยายไปถึง ป.4-6 ระดับมัธยมให้เรียนซ่อมรายวิชา (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
อภิชาติ พร้อมจ่อเสนอร่างระเบียบตกซ้ำชั้นให้ จาตุรนต์ พิจารณาสัปดาห์หน้า เปลี่ยนเรียนตกซ้ำชั้นแค่ ป.1-ป.3 ส่วนที่เหลือให้เรียนตกซ้ำรายวิชา แต่ถ้ายังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อาจขยายไปถึง ป.4-6 ช่วงชั้นที่เหลือในเรียนซ่อมเป็นรายวิชา ส่วนเรียนต่อ ม.4 พริ้วไม่แก้ประกาศรับนักเรียนปี 2557 อ้างแค่ทบทวน เพิ่มแนวปฏิบัติให้โรงเรียนก็พอ เชื่อปรับวิธีแนะแนวก็สามารถเพิ่มยอดอาชีวะได้ ไม่ต้องไปบังคับ
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าร่างระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการวัดผลและประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ที่จะใช้ในปีการศึกษา 2557 ซึ่งจะให้มีการตกซ้ำชั้นในระดับชั้นประถมศึกษาหากไม่ผ่านวิชาใดวิชาหนึ่ง เพราะเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ส่วนระดับมัธยมศึกษา หากไม่ผ่านในรายวิชาใดจะต้องมาลงเรียนรายวิชานั้นใหม่ในภาคเรียนถัดไป ว่า คณะทำงานจะประชุมสรุปอีกครั้งเพื่อเสนอให้ รมว.ศธ. พิจารณาในสัปดาห์หน้า ขณะที่ร่างระเบียบฯ สพฐ. จะเสนอให้มีการตกซ้ำชั้นเฉพาะนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) เพราะความเห็นครูประถมที่เชิญมาทั่วประเทศก็เห็นสอดคล้องกับความคิดของตนและนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งพบว่าเด็กช่วงชั้นดังกล่าวยังมีเวลา สามารถฝึกให้อ่านออก เขียนได้ เพราะหากอ่านไม่ออกเลยก็ไม่มีทางที่ผลการเรียนจะดีขึ้น แต่หากไม่ไหวจริง ๆ อาจต้องขยายไปช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-ป.6) เพราะบางคนอาจมีปัญหา อาทิ จบชั้น ป.6 แต่อ่านหนังสือไม่ออกเลย ส่วนช่วงชั้นที่เหลือจะให้มีการเรียนซ้ำรายวิชา
เลขาฯ สพฐ. ยังชี้แจงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กลัวถูกฟ้องร้องจนต้องถอยไม่แก้ประกาศรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2557 ทั้งที่เคยตั้งใจจะเข้มข้นในการรับนักเรียนขึ้นชั้น ม.4 ทั้งจำกัดนักเรียนต่อห้อง 40 คน กำหนดเกรดเฉลี่ยสะสม 2.50 ขึ้นไป เพื่อสนับสนุนนโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญเป็น 51% ต่อ 49% ในปี 2558 ตามนโยบายของนายจาตุรนต์ ที่ผ่านมาไม่ได้พูดว่าจะรื้อหลักเกณฑ์รับนักเรียนชั้น ม.4 ว่าต้องเป็นอย่างไร เพียงแต่ให้ไปทบทวนดูว่าประกาศรับนักเรียนดังกล่าวที่ประกาศไปก่อนประกาศนโยบาย รมว.ศธ. เรื่องการผลิตกำลังคนตามเป้าหมายสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งทั้ง ผอ. โรงเรียนและนักวิชาการ สพฐ. ได้พิจารณาแล้ว พบว่าไม่ต้องแก้ประกาศ เพียงแต่สามารถทำเป็นแนวปฏิบัติไปก็พอ มิฉะนั้นจะเป็นการไปจำกัดซึ่งอาจเป็นการบังคับ
เลขาฯ กพฐ. กล่าวอีกว่า สำหรับแนวปฏิบัติดังกล่าวนั้นจะให้คณะกรรมการฯ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งดำเนินการเพิ่มสัดส่วนการเรียนต่อสายอาชีพตามบริบทพื้นที่ของตัวเอง อาทิ ให้สถานศึกษารับนักเรียนเพียงรอบเดียว แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อกำหนดแนวทางเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ เป็นต้น ทั้งจะให้วิทยาลัยทุกสังกัดเข้าไปแนะแนวการศึกษาต่อสายอาชีพในโรงเรียนสามัญสังกัด สพฐ. มีกิจกรรมพานักเรียนชั้น ม.3 ไปเยี่ยมชมวิทยาลัย นอกจากนี้ สพฐ. ยังมีมาตรการระยะยาวคือ การให้อาชีวะมาช่วยสอนอาชีพในโรงเรียน โดยเฉพาะระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อเป็นทางเลือกของผู้เรียน หรือเรียนได้ 2 วุฒิ ทั้งวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. เบื้องต้นจะต้องหารือกับทางอาชีวะก่อน เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวทางร่วมกัน
"ที่ผ่านมาพบว่าครูแนะแนวในโรงเรียนไม่เคยแนะแนวเด็กให้มาเรียนอาชีวะเลย ส่งเสริมให้เรียนสายสามัญอย่างเดียว ยิ่งเด็กคนไหนสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี ๆ ได้ โรงเรียนก็ขึ้นป้ายหน้าโรงเรียนเพื่อเชิดชู ส่วนอาชีวะเองก็ไม่เคยเข้าไปแนะแนวในโรงเรียนเลย ฉะนั้นจะต้องมีการประชุมครูแนะแนวทั่วประเทศตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจและเพิ่มการแนะแนวให้เด็กไปเรียนอาชีวะด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะได้ผล" นายอภิชาติกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก