เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ผลวิจัย อึ้ง ! เด็กอายุ 10-19 ปี ท้องและทำแท้งกว่า 1 แสนราย กระทบเศรษฐกิจกว่า 3 พันล้านบาท ขณะที่มีเด็กเจอปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษามากกว่า 3 ล้านคน ติดเกมกว่า 2 ล้านคน ติดเหล้าอีกกว่า 5 ล้านคน ทำสูญเงินนับหมื่นล้านบาทต่อปี
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้เผยผลการศึกษาที่จัดทำร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง "อนาคตไทย" เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กอายุ 6-25 ปี และพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า เด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันนี้มีปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพ 3 เรื่อง คือ ปัญหาท้องในวัยรุ่นและติดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์, ปัญหาความรุนแรงในเด็ก และปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อม ทั้งปัจจัยบุคคล ครอบครัว และสังคม
โดย ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยโครงการ เปิดเผยถึงปัญหาแรกคือปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ว่า พบว่าปัจจุบันนี้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนหลายคน แต่กลับไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันและการคุมกำเนิด ทำให้เกิดโรคติดต่อ และเสี่ยงต่อการทำแท้งด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานกลางสารสนเทศ พบว่า ผู้หญิงอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดบุตรและจดทะเบียนมากกว่า 50 ต่อ 1,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมจำนวนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั้งหมดและการทำแท้งผิดกฎหมาย ขณะนี้การศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า ในประเทศมีแม่ที่อายุ 10-19 ปี คลอดบุตรราว 125,000 ราย และทำแท้งถึง 100,000 ราย ชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้นอกจากกระทบต่อสุขภาพของวัยรุ่นแล้ว ยังกระทบต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะเด็กเหล่านี้ต้องขาดการศึกษา ขาดต้นทุนสวัสดิการ เสียโอกาสการทำงาน ทำให้ไม่มีรายได้ เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ คิดแล้วกระทบต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 3,088 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ภญ.ปฤษฐพร จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพเด็กและวัยรุ่นให้มีความรู้ทักษะการใช้ชีวิต รวมทั้งควรลงทุนพัฒนาระบบฐานข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้ครอบคลุมทุกจังหวัด และติดตามประเมินอยู่ตลอดเวลา
ส่วนปัญหาที่ 2 คือ ปัญหาความรุนแรงในเด็กนั้น ผู้วิจัยระบุว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบมาจากปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ถูกเพื่อนและสื่อต่าง ๆ ชักจูง โดยตัวเลขปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสถานศึกษาถึง 3,723,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 8,500 คน เป็นผู้กระทำผิดด้วยคดีทางร่างกายต้องถูกส่งเข้าสถานพินิจฯ 5,000 คน และเป็นผู้กระทำผิดคดีทางเพศต้องถูกส่งเข้าสถานพินิจฯ 7,600 คน ดังนั้น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต้องเร่งพัฒนาระบบ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดความรุนแรงซ้ำ
นอกจากนี้ ยังพบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ติดยาเสพติดเกิดจากอยากรู้อยากลอง และส่วนหนึ่งมาจากปัญหาครอบครัว โดยจากการประเมินพบว่า ในแต่ละปีมีเด็กติดยาเสพติดกว่า 900,000 คน ติดแอลกอฮอล์ 5,247,000 คน สูญเงินไปกว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 20,000-360,000 บาทต่อราย
ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตนั้น ภญ.ปฤษฐพร ระบุว่า จากการสำรวจพบเด็กติดเกมมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งได้ส่งผลให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น มีปัญหาทางอารมณ์ และมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ตามมา บางคนเป็นเด็กออทิสติก ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินค่าเลี้ยงดูไม่ไปน้อย ทั้งนี้ ปัญหาเด็กติดเกมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ต้องสูญเงินจากค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมไป 1,106 บาทต่อคนต่อเดือน เท่ากับว่าใน 1 ปีต้องสูญเงินไปกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องพัฒนาระบบคัดกรองโรคสมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และออทิสติกในโรงเรียน รวมทั้งเชื่อมต่อกับสถานพยาบาล เพื่อติดตามผลการรักษาด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก