x close

ยกเลิกรับตรง จาตุรนต์ เปิดใจแนวโน้มปฏิรูปการศึกษาไทย ในเจาะเข่าวเด่น


ยกเลิกรับตรง

ยกเลิกรับตรง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  รายการเจาะข่าวเด่น โพสต์โดย คุณ ThaiTV19 HD สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          จาตุรนต์ ฉายแสง แจงข่าวกระทรวงศึกษาธิการ เล็งยกเลิกการรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย ในรายการเจาะข่าวเด่น 16 กันยายน 2556 โดยระบุว่า เป็นเพียงนโยบายในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบเพื่อความเท่าเทียม และหวังผลิตนักเรียนคุณภาพจากการปฏิรูปการศึกษา

          สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในเวทีเสวนาการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ กรุงเทพฯ โดยตอนหนึ่งได้ระบุว่า จะขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเร่งจัดทำระบบแอดมิชชั่นกลางให้ได้มาตรฐาน เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการรับนักศึกษาด้วยการสอบตรง จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เนื่องจากนักเรียนที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินเพียงพอในการเรียนกวดวิชา รวมทั้งไม่สามารถวิ่งรอกสอบทั่วประเทศได้นั้น

ยกเลิกรับตรง

          ล่าสุด เมื่อวานนี้  (16 กันยายน 2556)  นายจาตุรนต์ ได้มาชี้แจงในรายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 ถึงข่าวดังกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายในการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้บอกว่า จะยกเลิกระบบรับตรง ซึ่งปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้คือ การใช้คำว่า "รับตรง" อาจทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ให้สิทธิ์มหาวิทยาลัยในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา

          นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญ คือ การที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจัดสอบตรงด้วยตนเอง โดยมีการกำหนดวันสอบ และเนื้อหาในการสอบตามความสะดวกของทางวิทยาลัย เช่น บางแห่งจัดการสอบไปแล้วเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ทั้งที่เด็กเพิ่งเรียนไปได้ไม่นาน และไม่ใช่ช่วงปิดเทอม ทำให้เด็กต้องมีการเตรียมตัวสอบกันอย่างคร่ำเคร่ง และหากสอบผ่าน เด็กก็จะทิ้งการเรียนการสอนในโรงเรียนทันที เพราะถือว่าสอบได้แล้ว

          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าต้องการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ต้องใช้วิธีสอบกลางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีการสัมภาษณ์สำหรับบางคณะ เพื่อทำให้การสอบตรงน้อยลงโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ ไม่อยากให้จัดสอบเองตามอัธยาศัย แต่ควรใช้ข้อสอบกลางเท่าที่จะทำได้ ตามวันเวลาที่กระทรวงกำหนด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอาจมีการเพิ่มเงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อพิจารณารับนักศึกษาได้

          ต่อมาเมื่อ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการ ได้ย้อนถามกลับไปว่า จากกรณีที่มีคนคัดค้าน เนื่องจากมองว่าปัญหามีต้นตอจากการที่ระบบการเรียนและระบบการสอบแอดมิดชั่นมีปัญหา ทำให้คัดคุณภาพได้ไม่ดีพอ มหาวิทยาลัยจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการจัดสอบตรง เพื่อคัดเด็กเก่ง เด็กมีคุณภาพ ทางกระทรวงศึกษาธิการคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ยกเลิกรับตรง

          นายจตุรนต์ กล่าวตอบว่า ต้องดูว่าการแก้ปัญหานี้ มีขึ้นเพื่ออะไร ถ้าหากมหาวิทยาลัยอยากได้เด็กเก่ง เด็กมีความรู้ การให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบเอง โดยใช้ข้อสอบนอกหลักสูตรที่เด็กเรียน เท่ากับว่าเด็กต้องหันไปสนใจในเรื่องการทำข้อสอบของมหาวิทยาลัยมากกว่าการเรียนการสอนในโรงเรียน ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรเลือกวิธีอื่นที่จะช่วยให้การเรียนการสอนในระบบดีขึ้น เช่น ฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องมาช่วยกันกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับการสอบ

          ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะมาร่วมกันออกข้อสอบกลางก็ได้ แต่ในการออกข้อสอบ ขอให้ออกตามหลักสูตรที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งการทำเช่นนี้จะได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายจนนำไปสู่การมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี การมีเกณฑ์วัดผลที่ดี ส่งผลให้เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครอง สนใจการเรียนในระบบมากกว่าการไปเรียนกวดวิชา เพราะการเรียนเช่นนี้จะทำให้พวกเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

          ส่วนกรณีที่มีเด็กรีไทร์หลังจากสอบผ่านแล้วนั้น เกิดได้ทั้งเด็กที่สอบตรง หรือเด็กที่สอบกลาง เพราะเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไปเรียนกวดวิชา ซึ่งเขาจะสอนสูตรคำนวณหรือวิธีลัดในการทำข้อสอบให้ได้คะแนนสูงสุด แต่ไม่ได้แปลว่า เด็กคนนั้นจะสามารถคิดวิเคราะห์เนื้อหาการเรียนการสอนได้จริง ดังที่มหาวิทยาลัยต้องการ

ยกเลิกรับตรง

          นอกจากนี้ เด็กส่วนใหญ่ที่ผ่านการรับตรง จะไม่ใช่เด็กในระบบ เนื่องจากระบบยังไม่ถูกพัฒนาจนเกิดความเหลื่อมล้ำกัน การที่เด็กและผู้ปกครองส่วนใหญ่ หันไปสนับสนุนการเรียนกวดวิชา เป็นการทำให้การเรียนในระบบทั้งหมดเสียหาย เพราะไม่ว่าจะปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างไร ก็ไม่มีใครสนใจ เนื่องจากไม่เกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

          ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อหาทางทดสอบวัดผลที่ทำโดยส่วนกลางให้มากที่สุด แล้วนำผลการวัดนี้ไปใช้ในการคัดเลือกเด็กเพื่อเข้าศึกษาต่อ นั่นคือ ทางมหาวิทยาลัยยังรับตรงได้ แต่อยากให้ยกเลิกการสอบตรง ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ความจำเป็นในการสอบตรงลดน้อยลง

          นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ระบบสอบตรง ถือเป็นการตัดโอกาสเด็กยากจน เพราะเขาไม่มีเงินไปเรียนกวดวิชา หรือไม่มีเงินเพียงพอที่จะตระเวนไปสอบตามจังหวัดต่าง ๆ แต่เมื่อมีการสอบกลาง ถ้าอยากรู้ว่า บุคลิกของเด็กเป็นอย่างไร การเรียกไปสัมภาษณ์บ้าง ก็ยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการผลักดันเรื่องการเรียนกวดวิชา หรือการให้เด็กตระเวนสอบตามที่ต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสใกล้เคียงกัน

ยกเลิกรับตรง

          "การกวดวิชาไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในต่างประเทศเขาก็มีกัน แต่การกวดวิชาควรเป็นเพียงการเสริมความรู้ของเด็ก ไม่ใช่การสอนในสิ่งที่ระบบไม่มีเพื่อนำไปสอบ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่มีโอกาส ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาร่วมกัน จะทำให้เด็กรู้สึกว่า การตั้งใจเรียนในโรงเรียนให้ได้ดี ก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เหมือนเป็นการทำให้เด็กทั้งระบบเก่งขึ้น ไม่เหมือนการสอบตรง ที่เป็นการเลือกเด็กที่คิดว่าเด็กเก่งจากเด็กทั้งหมด ทั้งที่เด็กเหล่านี้อาจไม่มีคุณภาพอย่างแท้จริง"

          สำหรับในประเด็นที่เด็กมองกว่า การสอบกลางมันกว้างไป ไม่ได้คัดคนเก่งจริง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่องนี้สามรถเปลี่ยนแปลงได้ โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยต้องการให้สอบอะไรก็ว่ามา แต่ต้องทำทั้งระบบให้เชื่อมโยงไปพร้อม ๆ กัน แม้เรื่องการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และระบบการทดสอบต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๆ 3 ปี แต่เรื่องการสอบตรงสามารถปรับลดได้ทันที

          เพราะหลังจากนี้จะมีการเลื่อนเปิดเทอมเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียน ดังนั้นช่วงปิดเทอมนี้ก็จะยาวกว่าปกติ ประมาณ 4-5 เดือน ถ้าเรื่องกำหนดการสอบตรงยังไม่ลงตัว ทุกมหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบในช่วงหลังปิดเทอมครั้งนี้ได้เลย หลังจากนี้ค่อยมาคิดกันว่า อะไรที่ทำแล้วไม่กระทบกับเด็ก โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงโดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้เด็กบางส่วนเสียเปรียบ

          อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ คาดว่าใช้เวลานานที่สุดอย่างมากก็ไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันได้เร็วเท่าไร คาดว่า การปฏิรูปทั้งระบบน่าจะเสร็จก่อน 3 ปี ตามที่วางแผนไว้ แต่เรื่องใดที่ทำได้ เช่น เรื่องการสอบตรง ก็ควรแก้ไขในทันที ไม่ต้องรอ 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยกเลิกรับตรง จาตุรนต์ เปิดใจแนวโน้มปฏิรูปการศึกษาไทย ในเจาะเข่าวเด่น โพสต์เมื่อ 17 กันยายน 2556 เวลา 14:07:43
TOP