x close

คำบุพบท หน้าที่คืออะไร มาเรียนภาษาไทยกันดีกว่า

          การเรียนรู้หลักการและความสัมพันธ์ในการใช้คำบุพบท จะทำให้เราสามารถเรียบเรียงประโยคที่ใช้ในการสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้คนที่ฟังประโยคนั้น ๆ เข้าใจรูปประโยคได้ง่าย และสามารถนำไปตีความได้อย่างถ่องแท้ วันนี้ กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาดที่จะหยิบเอาหลักการง่าย ๆ ในการใช้คำบุพบทมาฝากกัน

ภาษาไทย

          ก่อนอื่นมารู้จักความหมายของคำบุพบทกันก่อน สำหรับ คำบุพบท ก็คือ คำที่ใช้นำหน้าคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ เพื่อบอกสถานภาพของคำเหล่านั้น หรือเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค ทีนี้ เราลองมาดูกันว่า คำบุพบทมีอะไรบ้าง แบ่งออกได้เป็นกี่ชนิด และสามารถวางในตำแหน่งใดได้บ้างค่ะ

          คำบุพบท มีอะไรบ้าง
 
          คำบุพบทที่ใช้กันในภาษาไทยมีมากมายหลายคำ แต่ที่ทุกคนน่าจะใช้กันบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น กับ ใน ของ ด้วย โดย แก่ แต่ แด่ ต่อ ซึ่ง เฉพาะ ตาม กระทั่ง จน เมื่อ ณ ที่ ใต้ บน เหนือ ใกล้ ไกล ริม ข้าง ตั้งแต่ เกือบ กว่า ตลอด ราว จาก สัก และสำหรับ เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการนำหน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยา เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของคำ

          ประเภทของคำบุพบท

          คำบุพบทแต่ละคำย่อมมีหน้าที่ และความหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ก็แตกต่างกันไปด้วย โดยตามหลักภาษาไทยแล้ว คำบุพบท แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการนำมาใช้ คือ คำบุพบทที่ต้องเชื่อมกับคำอื่น และคำบุพบทที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับคำอื่น เราลองไปดูตัวอย่าง และวิธีการใช้กัน


          1. คำบุพบทที่ต้องเชื่อมกับคำอื่น เพื่อบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างคำ และบอกสถานการณ์ให้ชัดเจน ได้แก่

          บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของ เช่น 

          - ฉันซื้อสวนของนางอุบล

          - สระว่ายน้ำของเขาใหญ่โตแท้ ๆ

          - อะไรของเธออยู่ในกระเป๋า

          - รถของฉันอยู่ในบ้าน

 

          บอกความเกี่ยวข้อง เช่น

          - เธอต้องการขนมในถุงนี้

          - พี่เห็นแก่น้อง

          - เธอไปกับฉัน

          - เขาอยู่กับฉันที่บ้าน

 

          บอกการให้และบอกความประสงค์ เช่น

          - ไข่เจียวจานนี้เป็นของสำหรับพระ  

          - ครูให้รางวัลแก่เด็กนักเรียน

          - แม่ให้ของที่ระลึกแก่โรงเรียน

          - นักเรียนมอบของที่ระลึกแด่ครู


 
          บอกเวลา เช่น

          - เธอมาตั้งแต่เช้า  

          - ตลอดสายวันนี้

          - ฝนตกตั้งแต่เช้ายันบ่าย

          - เขาอยู่เมืองนอกเมื่อปีที่แล้ว


 
          บอกสถานที่ เช่น

          - สมชายมาจากขอนแก่น

          - เขาขับรถอยู่บนทางเท้า

          - ใครอยู่ในห้องน้ำ

          - ณ ที่แห่งนี้คือที่ไหน


 
          บอกความเปรียบเทียบ เช่น

          - เขาหนักกว่าฉัน  

          - เขาสูงกว่าพ่อ  

          - เธอสูงแต่ฉันเตี้ย

          - เขามีรถแต่ฉันไม่มี

          - บ้านเธออยู่ใกล้แต่บ้านฉันอยู่ไกล

          - เหนือฟ้ายังมีฟ้า

 

          2. คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น ไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับคำอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค เช่น

          - ดูกร ดูก้อน ดูราช้าแต่  

          - ดูกร ท่านพราหมณ์  

          - ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย  

          - ดูรา สหายเอ๋ย  

          - ช้าแต่ ท่านทั้งหลาย            

          จะเห็นได้ว่าคำบุพบทประเภทนี้ มักไม่เป็นที่นิยมใช้กันเท่าไรนัก ส่วนมากจะเห็นในบทประพันธ์มากกว่า

          หน้าที่ของคำบุพบท

          นอกจากจะสามารถแบ่งคำบุพบทออกเป็น 2 ประเภทแล้ว เรายังสามารถแบ่งคำบุพบทได้ตามลักษณะหน้าที่ของคำนั้นที่่ใช้เชื่อมคำหรือประโยคด้วย ซึ่งเราแบ่งออกได้ 5 ประเภท คือ

          1. นำหน้าคำนาม เช่น 

          - ในตู้มีอะไร

          - บนโต๊ะว่างเปล่า

          - จนกระจกแตก

          - เขาไปกับน้องสาว

          2. นำหน้าคำสรรพนาม เช่น 

          - รถของเธอ

          - ปากกาของฉัน

          - ไปกับฉันไหม

          - หมาเดินตามคุณ

          - ผึ้งอยู่ใกล้ผม

          - เนื่องด้วยข้าพเจ้า

          3. นำหน้าคำกริยา เช่น

          - ขอไปด้วยคน

          - มาไกลไปไหม
 
          - เดินบนทางเท้า

          - ขอฟังต่ออีกสักหน่อย

          - เขาพูดราว 1 ชั่วโมงแล้วนะ

          - ผมใกล้อ่านหนังสือออกแล้ว

          4. นำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น

          - เขาต้องมาหาฉันโดยเร็ว

          - เขาเลวสิ้นดี

          - ปากกาของฉันสีม่วง

          - ขนมอร่อยมากแต่หมดแล้ว

          - ฉันมองไม่เห็นที่นั่น

          - ฉันรักแม่เหนือสิ่งอื่นใด


          5. นำหน้าประโยค เช่น

          - เมื่อไหร่เขาจะมาสักที

          - กระทั่งน้องเลิกโรงเรียน

          - ตั้งแต่เมื่อวานเขายังไม่กลับบ้านเลย

          - ข้างบ้านไม่มีใครอยู่เลย

          - เกือบเดือนแล้วที่ไม่ได้อาบน้ำ

          - ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์

          ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำบุพบทว่า ในบางประโยคที่เราใช้พูดคุยกัน อาจละคำบุพบทนั้นไว้ แต่ยังมีความหมายตามเดิม และก็ยังเป็นที่เข้าใจกันอยู่ เช่น พี่ให้เงิน (แก่) น้อง, แม่ (ของ) ฉันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

          นอกจากนี้ บางครั้งคำบุพบทก็มีลักษณะคล้ายคำวิเศษณ์ แต่ต่างกันตรงที่คำบุพบทจะวางไว้หน้าคำ ส่วนคำวิเศษณ์จะทำหน้าที่ขยายอยู่หลังคำนั้น ดังนั้นแล้ว หากไม่มีคำนาม หรือสรรพนามตามหลัง คำนั้นจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น เธออยู่ใน พ่อยืนอยู่ริม, ฉันอยู่ใกล้แค่นี้เอง ฯลฯ 

          เห็นไหมว่าการนำคำบุพบทมาใช้ในการเชื่อมรูปประโยคไม่ใช่เรื่องยากเลย ขอเพียงให้เราเข้าใจหลักการของการนำมาใช้ให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การสื่อสารไปยังผู้รับสารประสบผลสำเร็จได้ อย่างสมบูรณ์แบบแล้วล่ะ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำบุพบท หน้าที่คืออะไร มาเรียนภาษาไทยกันดีกว่า อัปเดตล่าสุด 4 กรกฎาคม 2562 เวลา 15:15:53 272,136 อ่าน
TOP