x close

นิติฯ จุฬาฯ ตั้ง กก.สอบอาจารย์ส่งเกรดช้า ทำ 5 นิสิตถูกรีไทร์ย้อนหลัง





นิสิตนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร้องถูกรีไทร์ย้อนหลัง เหตุเกรดออกช้า 2 ปี

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ผู้บริหารนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขอโทษ 5 นิสิต ออกเกรดช้าไป 2 ปี ทำถูกรีไทร์ย้อนหลัง เสนอ 2 แนวทางเยียวยา ด้านคณะสั่งตั้งกรรมการสอบเหตุส่งเกรดล่าช้า

          จากกรณีที่นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 คน ถูกแจ้งย้อนหลังให้พ้นสภาพนิสิต เนื่องจากสอบวิชาบังคับที่เรียนในชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาปลาย ไม่ผ่าน โดยผลคะแนนวิชาดังกล่าวออกล่าช้าไปกว่า 2 ปี หรือกว่า 5 ภาคการศึกษา ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านั้น

          เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 มีความคืบหน้าในกรณีนี้ หลังจากคณะผู้บริหารของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ประชุมกัน และเรียกนิสิตทั้ง 5 คน เข้ามาพบเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรายงานข่าวระบุว่า ผู้บริหารของคณะได้กล่าวขอโทษนิสิตทั้ง 5 คนที่เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ขึ้น แต่ไม่ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ผลคะแนนสอบออกล่าช้าเป็นเวลากว่า 2 ปี

          ในเวลาต่อมา ผศ. ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬา และ ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาแถลงข่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่นิสิต 5 คน สอบไม่ผ่านวิชากฎหมายกับสังคม ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่นิสิตทุกคนต้องเรียนในชั้นปีที่ 1 ทำให้ต้องพ้นสภาพนิสิต ทางคณะกรรมการบริหารคณะจึงได้ร่วมกันพิจารณาและยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้กับนิสิต นอกจากนี้ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้กับนิสิต 2 กรณี คือ

          1. ให้นิสิตนำผลการเรียนที่ได้ทั้งหมดที่เรียนมา มาคำนวณ ถ้ามีเกรดเฉลี่ยรวม 2.00 มหาวิทยาลัยก็จะให้นิสิตสามารถเลือกที่จะเรียนต่อในภาคการศึกษา 2556 ได้ทันที

          2. หากผลการเรียนของนิสิตเฉลี่ยรวมทั้งหมดที่ผ่านมาต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเรียนต่อไป ทางคณะจะรับนิสิตคนดังกล่าวมาเรียนชั้นปีที่ 1 ใหม่ โดยคณะนิติศาสตร์จะรับผิดชอบค่าเล่าเรียนของนิสิตนักศึกษา

          ทั้งนี้ ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ระบุว่า ทางออกดังกล่าวจะใช้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะนิสิตกลุ่มนี้เท่านั้น และน่าจะเป็นทางออกที่ดี ซึ่งจะเชิญนิสิตและผู้ปกครองมาพูดคุยเพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดอีกครั้ง ส่วนเรื่องส่งเกรดช้านั้น ปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยกำหนดกรอบเวลาให้แจ้งผลการเรียนให้นิสิตรับทราบภายใน 90 วันหลังจากสอบเสร็จ สำหรับกรณีนี้ถือว่าส่งเกรดล่าช้า ทางมหาวิทยาลัยจะถือโอกาสทำการวิจัยทุกคณะของสถาบัน เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้การส่งเกรดล่าช้า เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

          ขณะที่ ศ.ดร.ศักดา ได้กล่าวว่ารู้สึกเสียใจและขอโทษต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งทางคณะได้สั่งให้ยุติการสอนวิชานี้ไว้ชั่วคราวแล้ว พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบอาจารย์ผู้สอน แต่จากการสอบถามสาเหตุที่ส่งเกรดล่าช้า เบื้องต้นทราบว่าอาจารย์ท่านดังกล่าวมีปัญหาสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย โดยปัจจุบันต้องนั่งรถเข็นมาสอน

          ส่วนที่ว่าเป็นเพราะคณะส่งอาจารย์ไปเสนอผลงานที่ต่างประเทศนั้น คงไม่เกี่ยวกัน เพราะทางคณะได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าการเดินทางไปเสนอผลงานต้องไม่กระทบกับงานประจำ และเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจารย์จะเดินทางไปเสนอผลงานทางวิชาการที่ต่างประเทศ เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม ผลสรุปจะเป็นอย่างไรต้องรอผลการสอบสวนต่อไป






[19 มิถุนายน] นิสิตนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร้องถูกรีไทร์ย้อนหลัง เหตุเกรดออกช้า 2 ปี

          นิสิตนิติศาสตร์ จุฬาฯ 5 รายถูกรีไทร์ย้อนหลัง หลังเกรดออกช้า 2 ปี - จุฬาฯ โดนวิจารณ์เละ

          เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 คน ถูกแจ้งย้อนหลังให้พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต เนื่องจากผลการเรียนรวมในชั้นปีที่ 1 ไม่ผ่านเกณฑ์ หลังจากที่ผลคะแนนวิชากฎหมายกับสังคม ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่นิสิตทุกคนต้องเรียนในระดับชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 ออกล่าช้ามากกว่า 2 ปี หรือกว่า 5 ภาคการศึกษา

          รายงานระบุว่า นิสิตกลุ่มดังกล่าวกำลังศึกษาในชั้นปีที่ 4 ภาคการศึกษาต้นที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ขยับขึ้นชั้นเรียนในชั้นปีที่ 2-3 แม้ว่าผลคะแนนวิชาดังกล่าวจะยังไม่ประกาศผล ระบบการลงทะเบียนเรียนก็อนุญาตให้นิสิตกลุ่มดังกล่าวสามารถที่จะจดทะเบียนเรียนได้โดยปกติ

          จนกระทั่งเมื่อขึ้นชั้นปี 4 นิสิตกลุ่มดังกล่าว ได้ทำการลงทะเบียนเรียนปกติ แต่ภายหลังกลับถูกแจ้งว่า ให้พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต เนื่องจากผลคะแนนวิชากฎหมายกับสังคม ที่เคยเรียนเมื่อชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 เมื่อหลายปีก่อนได้ประกาศผล ซึ่งเมื่อนำผลคะแนนวิชาดังกล่าว มาคำนวณผลคะแนนเฉลี่ยรวมสมัยชั้นปีที่ 1 ทั้งสองภาคการศึกษาแล้ว ปรากฏว่า ผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะได้ศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อีกต่อไป

          ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นิสิตกลุ่มดังกล่าวได้พยายามที่จะติดต่ออาจารย์ผู้สอนรายวิชาดังกล่าวเพื่อติดตามผลคะแนน แต่ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังเร่งในการตรวจอยู่ เมื่อสอบถามไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ได้รับคำตอบว่า จะประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนให้ ซึ่งนิสิตเองก็มีความกังวลกับผลคะแนนที่ประกาศช้าเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อการวางแผนการศึกษาในชั้นปีต่อไป และเมื่อล่าสุดผลคะแนนได้ประกาศออกมา ก่อนเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ชั้นปีที่ 4 ทำให้ผลการเรียนเฉลี่ยรวมในสองภาคการศึกษาของชั้นปีที่ 1 ต่ำกว่าเกณฑ์และต้องถูกถอนสถานภาพนิสิต ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตของนิสิตกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก รวมทั้งครอบครัวของนิสิตด้วย

          อย่างไรก็ดี หลังเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ทางคณะกรรมการบริหารคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเชิญนิสิตที่ได้รับผลกระทบทั้ง 5 คน เข้าพบหารือเพื่อหาทางออก พร้อมทั้งได้เปิดเวทีชี้แจงให้นิสิตทุกชั้นปีรับฟัง และในคราวการประชุมคณะกรรมการบริหารคณะนิติศาสตร์ ครั้งที่ 12/2556 ได้มีมติออกมา โดยมีใจความสำคัญ คือ การยอมรับผิดที่คณะได้ส่งคะแนนการศึกษาล่าช้า และมีมาตรการในการเยียวยาออกมา 4 ข้อ คือ

          1. มาตรการเยียวยาทางการเงิน เห็นควรให้นิสิตได้รับการเยียวยา ดังต่อไปนี้

               1.1 คืนค่าธรรมเนียมทางการศึกษานับตั้งแต่เวลาที่พ้นสภาพ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

               1.2 ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการศึกษาตามความเป็นจริง เป็นรายกรณีไป

               1.3 ชดเชยค่าเสียโอกาส

          2. เห็นควรเสนอให้มหาวิทยาลัยให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยในกรณีดังกล่าว

          3. ทั้งนี้ในส่วนของรายวิชาดังกล่าว คณะกรรมการเห็นพ้องให้มีการเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 นี้เป็นต้นไป

          4. ในส่วนของการส่งคะแนนช้าในรายวิชาต่าง ๆ นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรเพิ่มมาตรการ ดังต่อไปนี้


               4.1 ให้มีการออกหนังสือทวงถาม ครั้งที่ 1 และ 2 ถึง อ.ผู้สอนในรายวิชา เมื่อครบ 1 ถึง 2 เดือน นับแต่วันสอบวันสุดท้ายของภาคนั้น

               4.2 หากครบสามเดือนแล้ว พึงมีการตั้งกรรมการสอบวินัยอาจารย์ผู้สอนต่อไป เว้นแต่มีเหตุจำเป็นบางประการที่ทำให้ส่งคะแนนภายในกำหนดไม่ได้

          ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกตั้งคำถามจากศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจำนวนมากถึงเรื่องความรับผิดชอบของคณะที่ควรจะมีมากกว่านี้ตั้งแต่คณะผู้บริหารจนกระทั่งถึงอาจารย์ผู้สอน เนื่องจากมาตรการที่ออกมานอกจากเป็นการไม่ช่วยเหลือนิสิตทั้งห้าคนแล้ว ยังเป็นการลอยตัวของผู้บริหารคณะที่ให้อาจารย์เพียงท่านเดียวแบกความรับผิดชอบ และยังวิพาษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานและตัวระบบโครงสร้างการคิดคะแนนและการจัดการเรียนการสอนของคณะที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดร้ายแรงดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับนิสิตรุ่นต่อไปในอนาคต


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิติฯ จุฬาฯ ตั้ง กก.สอบอาจารย์ส่งเกรดช้า ทำ 5 นิสิตถูกรีไทร์ย้อนหลัง อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2556 เวลา 13:48:17 4,958 อ่าน
TOP