แฟ้มภาพ
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ครูผู้ช่วย 22 ราย จากทั้งหมด 344 ราย ที่ถูกเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วย จ่อฟ้องศาลปกครอง หลังถูก ผอ.โรงเรียนสั่งให้ออกจากราชการกรณีทุจริตสอบ ด้าน รมว.ศธ. เผย เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ที่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้
เมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน 2556) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 7 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีทุจริตสอบการคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ว12 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หลังกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ ทั้ง 119 เขตทั่วประเทศ เพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยทั้ง 344 ราย
โดยเฉพาะในสังกัด อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ 1-7 ในจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมด 48 ราย และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ นครราชสีมา เขต 7 ซึ่งทั้งหมดต้องปฏิบัติตามมติของ ก.ค.ศ. โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสั่งเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วย 6 ราย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เสียสิทธิทั้ง 6 รายมาชี้แจงภายใน 15 วัน
ซึ่งเมื่อวานนี้ถือเป็นวันครบกำหนดแล้ว แต่ปรากฏว่า มีเพียง 5 รายที่มาชี้แจงและเซ็นรับใบคำสั่งเพิกถอน ส่วนอีก 1 ราย ไม่ยอมเซ็นรับ แต่ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก อ.ก.ค.ศ. เพื่อตั้งทนายยื่นฟ้องกลับต่อผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน, อ.ก.ค.ศ., ก.ค.ศ., สพฐ. ไปจนถึงกระทรวงศึกษาธิการ และทราบข่าวว่าในเขตพื้นที่อื่น ๆ มีผู้จะฟ้องกลับเช่นกัน
ผศ.ดร.อดิศร กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงผู้อำนวยการโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกข้อสอบ หรือ การจัดสอบ แต่ต้องมาถูกฟ้องด้วย เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจสั่งเพิกถอนโดยตรง ดังนั้น จึงขอให้ ก.ค.ศ. และ สพฐ. เข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะยังเหลือผู้ถูกเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยอีกจำนวนมากใน 344 ราย ที่เตรียมฟ้องกลับเหมือนกัน
ด้าน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา หากมั่นใจว่าตัวเองถูกต้อง ไม่ได้ทุจริต ก็เป็นสิทธิที่จะฟ้องร้องศาลปกครองได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลว่า จะรับพิจารณาหรือไม่ โดยดูจากข้อเท็จจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวจะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า มีการฟ้องศาลปกครองจริงหรือไม่ และฟ้องศาลใด โดยจะให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าวรายงานตนในวันนี้ (17 มิถุนายน 2556) ทั้งนี้ หากศาลรับพิจารณา ก็เชื่อว่าไม่ทำให้เรื่องนี้หยุดชะงัก เพราะเป็นเรื่องรายกรณี
ขณะที่ นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า กรณีของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่นครราชสีมา เขต 7 ไม่มั่นใจว่าเป็นการร้องทุกข์ หรือการฟ้องศาลปกครองเลย เพราะโดยขั้นตอนก่อนการฟ้องศาลปกครอง ก็ต้องร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ก่อน ส่วนจะมีผลให้การดำเนินการให้ผู้ที่ทุจริตสอบครูผู้ช่วยออกจากราชการหยุดชะงักหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับคำฟ้อง แต่โดยหลักการการยกเลิกหรือชะลอคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คงไม่มีผลต่อบุคคลอื่น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในรายที่ฟ้องศาลปกครอง จะยังมีสิทธิไปสมัครสอบครูผู้ช่วยหรือเรียกรับบรรจุในบัญชีสอบแข่งขันอื่น หรือไม่ นางรัตนากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดีเอสไอชี้ว่าทุจริตหรือไม่ ถ้าชี้ว่าทุจริตและมีหลักฐานการทุจริต ถึงจะไปรายงานตัวตามบัญชีสอบแข่งขันอื่นอย่างไร ก็ต้องออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวต้องรายงานให้ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณา
นางรัตนา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ตนกำลังขอนัดวันประชุม ก.ค.ศ. กับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เนื่องจากภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ก.ค.ศ.มีหนังสือให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ และผู้อำนวยการโรงเรียน สั่งการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ครูที่ทุจริตออกจากราชการ 344 ราย จาก 119 เขตพื้นที่ จนถึงขณะนี้มี 20 เขต รายงานมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. แล้ว โดยมีทั้งกลุ่มที่ยอมรับคำสั่งให้ออกจากราชการและกลุ่มที่ไม่ยอมรับและได้ดำเนินการร้องทุกข์เข้ามา จำนวน 22 รายจาก 20 เขตพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับขั้นตอนของการฟ้องศาลปกครอง ผู้ที่จะฟ้องจะต้องยื่นร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ต่อ ถ้า ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วยกคำร้อง หรือไม่ยกคำร้องอย่างไร ก็จะแจ้งต่อผู้ร้องทุกข์ ถ้าผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจกับคำตัดสินของ ก.ค.ศ. ก็สามารถฟ้องศาลปกครองต่อไปได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก