x close

ผู้ปกครองโอด ลูก ป.2 ใช้แท็บเล็ตรัฐ แต่ไม่มีเนื้อหาสำหรับเรียน


แท็บเล็ต ป.2 ผู้ปกครองโอด ไม่มีเนื้อหาสำหรับเรียน
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            ผู้ปกครองบ่นอุบ โครงการแท็บเล็ตของรัฐบาล ไม่มีเนื้อหาสำหรับ ชั้น ป.2 ซ้ำยังกังวลถึงความโปร่งใสของการประมูลในล็อตใหม่ เนื่องจากพบว่า มีการตัดผลประชาพิจารณ์บางส่วนออกไป โดยไม่แจ้งเหตุผล

            วันนี้ (20 พฤษภาคม 2556) มีรายงานข่าวว่า หลังจากเปิดเทอมได้ไม่นาน ตอนนี้บรรดาผู้ปกครองต่างบ่นกันขรม ถึงกรณีที่ลูกหลานซึ่งได้รับแท็บเล็ต ป.1 ตามโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ของรัฐบาล เมื่อปี 2555 แต่พอเปิดเทอม 2556 กลับพบว่า เนื้อหาของเครื่องแท็บเล็ตยังมีแค่ข้อมูลสำหรับการเรียนในชั้น ป.1 เท่านั้น

            ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาเนื้อหาเพื่อบรรจุลงเครื่องแท็บเล็ตสำหรับชั้น ป.2 คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งแหล่งข่าววงในแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทำเนื้อหาสำหรับชั้น ป.2 เพื่อบรรจุลงแท็บเล็ตแต่อย่างใด

            ขณะเดียวกันการจัดหาแท็บเล็ตในปี 2556 จำนวน 1.75 ล้านเครื่อง ภายใต้งบประมาณราว 5,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจัดการประมูลก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากผู้ประกอบการและ ประชาชนใน 2 ประเด็น ดังนี้

            1. การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแท็บเล็ตสำหรับเด็ก ป.1 และเด็ก ม.1 รวมทั้งแท็บเล็ตของครูประจำชั้น ทั้งหมด 1.75 ล้านเครื่องในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งครั้งแรกมีการกำหนดศูนย์บริการที่ ต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 แต่การทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ครั้งที่สอง กลับพบว่า คณะกรรมการได้ตัดเรื่องนี้ทิ้งไป

            2. การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูลแท็บเล็ตสำหรับชั้น ป.1 และ ชั้น ม.1 รวมทั้งแท็บเล็ตของครูประจำชั้นทั้งหมด 1.75 ล้านเครื่องในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางซึ่งครั้งแรกระบุว่าเครื่องแท็บเล็ต ที่จะเอาเข้าประมูลต้องมี License Google เพื่อสามารถติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่การทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ในครั้งที่สอง กลับพบว่าคณะกรรมการได้ตัดเรื่องนี้ทิ้งไป

            ทางด้าน น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ได้ชี้แจงว่า การเดินหน้าโครงการแท็บเล็ตครั้งนี้เป็นการ “จัดหา” ไม่ใช่ “จัดซื้อ” ซึ่งแตกต่างกัน โดยการจัดหาคือให้ผู้ผลิตที่มีแท็บเล็ตอยู่แล้วนำเครื่องมาเสนอเพื่อเข้าร่วมการประมูล ดังนั้น เรื่อง License Google ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะแท็บเล็ตที่จัดซื้อใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และทางคณะทำงานได้พัฒนาเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นเพื่อบรรจุลงแท็บเล็ตเอง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้นักเรียนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในกูเกิลเพลย์

            ส่วนเรื่องการยกเลิกเงื่อนไขที่ว่า ศูนย์บริการต้องมีมาตรฐาน ISO 9001 นั้น เนื่องจากการยื่นขอมาตรฐาน ISO 9001 ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี แต่เงื่อนไขในการประมูลผู้ชนะจะต้องตั้งศูนย์บริการภายใน 90 วัน ซึ่งขณะนี้มีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีศูนย์บริการที่ได้มาตรฐาน ISO 9001 อีกทั้งผู้ผลิตที่จะเข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ การระบุเงื่อนไขดังกล่าว อาจทำให้เกิดการกีดกัน ดังนั้นจึงยกเลิกเงื่อนไขนี้ เพื่อให้ได้แท็บเล็ตที่มีราคาถูกแต่คุณภาพดี ซึ่งคณะกรรมการที่ดำเนินงานเรื่องแท็บเล็ตก็มีมาตรฐานในการตรวจสอบศูนย์บริการอยู่แล้ว

            นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รายงานเพิ่มเติมว่า การจัดซื้อแท็บเล็ต ป.1 ปี 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินงาน แต่โครงการจัดหาแท็บเล็ตปี 2556 สพฐ. จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการจัดหาและจัดการประมูลแท็บเล็ตสำหรับชั้น ป.1 และ ม.1 ตามที่ได้รับมอบหมายมา ทั้งนี้ ตามกำหนดการเมื่อคณะกรรมการจัดหาแท็บเล็ตปิดรับฟังการประชาพิจารณ์แล้ว จะนำความเห็นที่ได้ไปพิจารณา และคาดว่าจะเปิดประมูลปลายเดือนมิถุนายนนี้

            อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันต่อไปว่า โครงการจัดหาแท็บเล็ตในปีนี้จะมีข้อกังขาอะไรออกมาอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ทาง ศธ. ควรรีบจัดทำเนื้อหาสำหรับชั้น ป.2 และชั้นเรียนอื่น ๆ ออกมาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของเด็ก ๆ ด้วย

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ปกครองโอด ลูก ป.2 ใช้แท็บเล็ตรัฐ แต่ไม่มีเนื้อหาสำหรับเรียน อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:26:19
TOP