x close

ลงดาบ! ศธ. ไล่ออก-ขึ้นบัญชีดำ ทุจริตสอบครูผู้ช่วย 334 ราย



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ก.ค.ศ. สั่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 119 เขต ให้เพิกถอนผู้ทุจริตสอบครูผู้ช่วย 344 ราย โดยให้ออกจากราชการ พร้อมขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถรับราชการครูได้อีก

          เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งหนังสือถึง ก.ค.ศ. และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 119 เขต ให้พิจารณาเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครู ในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ในครั้งที่ผ่านมา จำนวน 344 ราย เนื่องจากเห็นว่าบุคคลเหล่านี้กระทำการเข้าข่ายทุจริตในการสอบ ทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกัน และมีคะแนนสอบที่สูงผิดปกติ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แจ้งไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 119 เขต ให้แจ้งผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อดำเนินการตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ โดยสั่งให้ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเหล่านี้ออกจากราชการ

          อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพ เผยว่า ทั้ง 344 รายข้างต้น ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยทั้งหมด ดังนั้น ก.ค.ศ.จึงมีอำนาจดำเนินการได้เฉพาะผู้ที่ได้รับการบรรจุแล้วเท่านั้น และในการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งต่อไป สำนักงาน ก.ค.ศ.จะต้องมารายงานว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนได้สั่งให้กลุ่มคนเหล่านั้นออกจากราชการไปครบแล้วหรือยัง

          ด้าน นางรัตนา ศรีหิรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า สำนักงาน ก.ค.ศ.จะทำหนังสือแจ้งไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ให้ดำเนินการตามมติดังกล่าว และคิดว่าทางผู้อำนวยการโรงเรียนจะดำเนินการตามมติของ ก.ค.ศ. อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ทั้ง 344 รายที่ดีเอสไอเห็นว่ามีกระทำการเข้าข่ายทุจริตในการสอบ ก.ค.ศ.จะสามารถดำเนินการได้เฉพาะผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งแล้วเท่านั้น ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ก.ค.ศ.ไม่มีอำนาจไปดำเนินการอะไรได้ เพราะถือว่ายังไม่เข้ารับราชการ แต่ทั้ง 344 รายนี้ถือว่าถูกขึ้นบัญชีดำ ซึ่งตามระเบียบจะไม่สามารถกลับมารับราชการครูได้อีก

          ขณะที่แหล่งข่าวจาก ศธ.คนหนึ่ง เปิดเผยว่า ดีเอสไอยังได้แนบเอกสารประกอบคำให้การต่อเจ้าพนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาเอกสารส่วนหนึ่งได้ระบุถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของ ศธ. ซึ่งในข้อที่ 3 ของข้อสรุประบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ พิจารณาเห็นว่า ควรมีการรายงานผู้บังคับบัญชาให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ทราบ และดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีกรณีมีมูลสงสัยว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดวินัย กรณีละเลยหรือจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
 
          โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ของ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นกรณีมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ประกอบกับ นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการบริหารงานบุคคล และนายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอันสำคัญในการดำเนินการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งนี้ อยู่ในข่ายผิดวินัยดังกล่าว

          ด้าน นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอส่งเอกสารหลักฐานคำให้การของ นายพิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของ ศธ. และ ดร.ชอบ ลีซอ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการสอบของผู้เข้าสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ประจำคณะกรรมการศูนย์ให้คำปรึกษาและติดตามผลการคัดเลือกครูผู้ช่วย เรื่องการวิเคราะห์สถิติผู้กระทำความผิด และในส่วนของดีเอสไอที่พบหลักฐานว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งดีเอสไอได้ส่งเอกสารทั้ง 3 ส่วนไปยังเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว

          นายธานินทร์ กล่าวต่อว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่มีการตัดต่อคำให้การของนายพิษณุ หรือ ดร.ชอบ เนื่องจากเกรงว่าจะผิดวัตถุประสงค์ โดยทั้ง 2 คน ให้การเป็นลายลักษณ์อักษร โดยใช้ผลสอบสวนของคณะกรรมการที่แต่ละคนเข้าไปเกี่ยวข้องในการสอบสวน โดยในคำให้การของนายพิษณุจะมีชื่อผู้เกี่ยวข้องในส่วนของ สพฐ. ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ศธ.ที่จะสอบสวนต่อไป ทั้งนี้ เหตุที่ต้องแนบเอกสารหลักฐานดังกล่าวไปด้วยทั้งหมด เพื่อต้องการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ พิจารณาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะมีผลการสอบสวนและหลักฐานที่เกี่ยวข้องในระดับหนึ่งที่ถูกแนบมาด้วย ซึ่งเพียงพอที่จะชี้ว่าบุคคลใดในเขตพื้นที่ฯ ของตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต และสามารถให้ออกจากราชการได้ ทั้งนี้ หากทาง อ.ก.ค.ศ.ยังไม่มั่นใจในพยานหลักฐานที่ดีเอสไอส่งไปให้ ก็อาจจะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ โดยเรียกดูกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบว่ามีการกระทำผิด หรือมีการตอบในข้อ 34 ผิด ซึ่งเป็นประเด็นต้องสงสัยจริงหรือไม่


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลงดาบ! ศธ. ไล่ออก-ขึ้นบัญชีดำ ทุจริตสอบครูผู้ช่วย 334 ราย อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2556 เวลา 15:26:43
TOP