x close

จัด 100 อันดับ มหาวิทยาลัยดีในเอเชีย มจธ.-มหิดล-จุฬาฯ ติดด้วย




 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            จัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยดีในเอเชีย มจธ.-มหิดล-จุฬา ติดด้วย แต่ได้อันดับไม่ดีนัก แนะรัฐบาลทุ่มงบวิจัย ชี้มาเลเซียแซงหน้าไทยแล้ว

            เมื่อวันที่ 11 เมษายน นิตยสาร Times Higher Education ของประเทศอังกฤษ ได้จัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียเป็นครั้งแรก โดยผลการจัดอันดับ 100 อันดับ มีมหาวิทยาลัยไทยติดอยู่ด้วยถึง 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่

            อันดับที่ 55 มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
            อันดับที่ 61 มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.)
            อันดับที่ 82 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            ส่วนสาเหตุที่ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อยู่ในอันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยไทยนั้น เป็นเพราะว่ามีผลงานวิจัยที่โดดเด่น ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีความโดดเด่นเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้จะไม่ระบุความโดดเด่นที่แน่ชัด แต่ได้คะแนนในทุกตัวบ่งชี้ อยู่ในระดับดี

            สำหรับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย 10 อันดับแรก อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น 2 แห่ง, จีน 2 แห่ง, ฮ่องกง 2 แห่ง, เกาหลีใต้ 3 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง โดย 5 อันดับแรกประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโปฮังของเกาหลีใต้

            ด้าน นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า สาเหตุที่ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อยู่ในอันดับที่ 55 นั้น ตนเข้าใจว่าตัวชี้วัดน่าจะใกล้เคียงกับการจัดอันดับที่ผ่านมา โดยดูการผลงานวิจัยที่มีความหมายกับการเรียนการสอน การร่วมมือกับเอกชน รวมถึงเป็นงานวิจัยที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เกิดจากการสั่งสมงานวิจัยอย่างต่อเนื่องด้วย

            นายศักรินทร์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากรัฐบาลอยากจะให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศมากกว่านี้ จะต้องลงทุนในเรื่องสร้างความรู้อีกมาก เพื่อไม่ให้กระทบความสามารถของการแข่งขัน และต้องลงทุนในเรื่องโครงสร้างด้วย อาทิ การสร้างบรรยากาศ และสถานที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สร้างห้องแล็บให้เพียงพอต่อความต้องการ เป็นต้น
 
            อธิการบดี มจธ. แสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลลงทุนเรื่องงานวิจัยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่ถึง 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าอีก 4-5 ปี จะเพิ่มงบประมาณด้านงานวิจัยเป็น 1% ของ GDP และรวมกับภาคเอกชนอีก 1% เป็น 2% แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะเพิ่มขึ้น

            ขณะที่ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ระบุว่า ถือว่าเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชียครั้งแรกของ Times Higher Education ซึ่งเท่าที่ดูคะแนนนั้น ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ส่วนที่ด้อยของมหาวิทยาลัยไทย ก็คือผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ และผลงานวิจัยที่ได้รับอ้างอิง และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ตนคิดว่ารัฐบาลควรทุ่มงบให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากประเทศมาเลเซีย ที่เมื่อก่อนการศึกษาของประเทศไทยไปไกลกว่ามาก พอประเทศเขาเปลี่ยนนโยบาย ทุ่มงบวิจัยมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ประเทศมาเลเซียไปไกลกว่าประเทศไทยมากแล้ว



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จัด 100 อันดับ มหาวิทยาลัยดีในเอเชีย มจธ.-มหิดล-จุฬาฯ ติดด้วย อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2556 เวลา 16:51:57 1,152 อ่าน
TOP