เวลา 13.05 น. นศ.อุเทนถวาย เริ่มเดินออกจากสถาบัน ปิดจราจร ถ.พญาไท ขาออกชั่วคราว : เครดิต ภาพประกอบจาก @Reporter_Js1
ภาพนักศึกษา-ศิษย์เก่าอุเทนถวาย เดินเท้าไปจามจุรี สแควร์ ค้านจุฬาฯเรียกคืนที่ดิน : เครดิต ภาพประกอบจาก @ThaiPBS
ศิษย์เก่าและ นศ.อุเทนถวาย เริ่มเคลื่อนขบวนมาที่หน้าจุฬาฯ แล้ว เตรียมชุมนุมปักหลักหน้า สนง.ทรัพย์สิน 1 ชม. : เครดิต ภาพประกอบจาก @news1005fm
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @TonGlassHeart, @Reporter_Js1, @news1005fm, @ThaiPBS
ตำรวจคุมเข้ม ชุมนุมอุเทนถวายทุก 10 เมตร ต่อตำรวจ 1 นาย พร้อมตำรวจนอกเครื่องแบบ ด้านจุฬาฯ ปัดข่าวประกาศห้ามนิสิตใส่เครื่องแบบ หรือสัญลักษณ์ พร้อมยันกรณีขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวาย ทำตามการชี้ขาดของ กยพ. ล่าสุดด้านกลุ่มนักศึกษาอุเทนถวาย สลายการชุมนุมแล้วเมื่อเวลา 14.45 น. พร้อมยืนยันจะใช้พื้นที่เดิม
จากกรณีที่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รวมตัวกันในนามของสมาคมรักษาสิทธิโรงเรียนอุเทนถวาย เรียกชุมนุมศิษย์ทั่วสยาม มาเดินขบวนชุมนุมในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่ดินจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น
พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 กล่าวว่า ได้จัดเตรียมกำลังไว้ 3 กองร้อย หรือ 450 นาย รักษาความสงบบริเวณจุฬาฯ รวมถึงบริเวณอุเทนถวาย ไปจนถึงแยกสามย่าน โดยทุก 10 เมตร จะมีตำรวจ 1 นาย พร้อมกับตรวจอาวุธอย่างเข้มข้น และมีการเตรียมตำรวจจราจรอีก 1 กองร้อย หรือ 150 นาย
ทั้งนี้ในช่วงเช้า นายเฉลิมชัย เจริญผล ตัวแทนศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความเป็นธรรม กรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอพื้นที่คืน พร้อมวอนขอให้ช่วยเหลือให้เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสถาบันฯ และขอให้ตั้งที่เดิม ไม่ย้ายไปที่อื่น โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปราบจลาจล จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จำนวน 1 กองร้อย เฝ้าดูแลความสงบเรียบร้อย
จากนั้นแกนนำคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้เริ่มเคลื่อนขบวน ในเวลา 13.30 น. ไปตามถนนพญาไท โดยใช้ 1 ช่องจราจรด้านขวามือสุด ด้านติดกับเกาะกลางถนน ไปยื่นหนังสือต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย คืนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางสายฝนและการดูแลรักษาความปลอดภัยของตำรวจตลอด 2 ข้างทาง
โดยแกนนำนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ปราศรัยยืนยันว่า อุเทนถวายยังยืนยันที่จะใช้พื้นที่เดิม และจะอยู่เป็นพี่น้องกับจุฬาฯ ต่อไป โดยหลังจากนี้จะรอดูท่าทีของฝ่ายผู้บริหารจุฬาฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากไม่เป็นที่พอใจก็จะกลับมาชุมนุม หรือดำเนินมาตรการอื่น ๆ ต่อไป
หลังจากนั้น เมื่อเวลา 14.45 ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยแล้ว ส่งผลให้เส้นทางการจราจรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ตลอดการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ และไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น
สถานการณ์อุเทนถวายชุมนุมขอคืนที่ดินจุุฬาฯ 15 มีนาคม 2556
จุฬาฯ แจงผ่านเว็บไซต์ขอพื้นที่คืนอุเทนถวาย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีขอคืนพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย โดยได้นำผลการพิจารณาของ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาททางแพ่ง ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน
สำหรับการวินิจฉัยชี้ขาดของ กยพ. ใช้เวลาการพิจารณาถึง 2 ปี โดยมีการสอบทั้งพยานหลักฐานและพยานบุคคลของทั้งสองฝ่าย และได้ตัดสินให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้าย และส่งมอบพื้นที่ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับชำระค่าเสียหาย ปีละกว่า 1,140 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนกว่าจะส่งมอบคืนพื้นที่แล้วเสร็จ
ขณะเดียวกัน ตัวแทนของอุเทนถวาย ได้ยื่นถวายฎีกา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 และมีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการ ว่าให้ผลเป็นไปตามคำวินิจฉัยของ กยพ. ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า การขอคืนพื้นที่นั้น ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เช่าพื้นที่เป็นเวลา 68 ปี หมดสัญญา เมื่อปี 2546 ซึ่งจุฬาลงกรณ์ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ ปี 2518 เพื่อจะนำพื้นที่กว่า 20 ไร่ 3 งาน ไปขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนาของมหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เรียกผู้บริหารถกด่วน หลังอุเทนถวาย นัดชุมนุม
จากสถานการณ์การนัดชุมนุมประท้วง เพื่อทวงพื้นที่ของนักศึกษาอุเทนถวายในช่วงเช้าที่ผ่านมา มีรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียกผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประชุมกันอย่างเคร่งเครียด เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจาก จุฬาลงกรณ์ ที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมได้หารือเฉพาะเรื่องมาตรการป้องกันความปลอดภัย แต่นโยบายการขอพื้นที่คืนยังไม่มีการประชุมแต่อย่างใด
ตัวแทนอุเทนถวาย ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ รมว.ศธ. แล้ว
นายเฉลิมชัย เจริญผล ตัวแทนศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย พร้อมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความเป็นธรรม กรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอพื้นที่คืน พร้อมวอนขอให้ช่วยเหลือให้เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสถาบันฯ และขอให้ตั้งที่เดิม ไม่ย้ายไปที่อื่น โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปราบจลาจล จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จำนวน 1 กองร้อย เฝ้าดูแลความสงบเรียบร้อย
ขณะที่ ด้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เข้าใจความรู้สึกของกลุ่มนักศึกษา และจะนำเรื่องดังกล่าวประสานให้ นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ไปดูแลให้ ซึ่งทำให้กลุ่มนักศึกษาพอใจ ก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับ โดยไม่มีเหตุรุนแรง
เส้นทางการเคลื่อนขบวนไปจุฬาฯ
แกนนำคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ชี้แจงเส้นทางการเคลื่อนขบวนจากอุเทนถวาย ไปยื่นหนังสือต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทวงกรรมสิทธิ์ที่ดินของอุเทนถวาย คืนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทราบ โดยระบุว่า กลุ่มคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน จะเริ่มซักซ้อม ชี้แจง และแนะนำวัตถุประสงค์ของการชุมนุม ในเวลา 12.00 น. ก่อนเริ่มเคลื่อนขบวน ในเวลา 13.30 น. ไปตามถนนพญาไท โดยจะใช้ 1 ช่องจราจรด้านขวามือสุด ด้านติดกับเกาะกลางถนน
จากนั้นจะกลับขบวนจากหน้าอุโมงค์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านหน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนขึ้นมาบนทางเท้าเพื่อปราศรัยย่อย พร้อมยื่นหนังสือเปิดผนึกกับตัวแทนสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะเคลื่อนขบวนกลับมายังอุเทนถวาย โดยคาดว่า จะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในเวลา 17.00 น. ซึ่งการเคลื่อนขบวนทั้งหมด จะใช้รถกระจายเสียงขนาดเล็ก 2 คัน รถแสดงจอภาพ 1 คัน และกลุ่มนักศึกษาอุเทนถวาย
อธิการบดีจุฬาฯ ยืนยัน ไม่ปิดทำการ พร้อมเชิญ ศธ. และ อุเทนถวายถกแก้ปัญหา
นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เปิดแถลงข่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความกังวลใจ และมีความห่วงใยในสวัสดิภาพของนิสิต 40,000 คน และบุคลากรของมหาวิทยาลัยประมาณ 8,000 คน แต่จุฬาฯจะไม่ปิดทำการจนกว่าจะได้รับการยืนยันถึงสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเดียวกันเชื่อว่าแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ต้องมีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ กระทรวงศึกษาการ (ศธ.) จุฬาฯ และอุเทนถวาย โดยเชื่อว่าหากอุเทนถวายมีที่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และใกล้กับภาคอุตสาหกรรม ทางอุเทนถวายน่าจะยินดีขยับขยาย
อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความห่วงใย โดยคิดว่าทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้คือการเจรจาเท่านั้น ส่วนข้อเสนอของทางอุเทนถวายว่าจะเช่าที่ เพื่อให้อุเทนถวายได้อยู่ที่เดิมต่อไปนั้น ก็คงต้องมีการเจรจาต่อไป ทั้งนี้ จุฬาฯยืนยัน และเคยบอกตลอดเวลาว่า ไม่ได้ให้อุเทนถวายย้ายออกทันที เรามองอุเทนถวายด้วยความเห็นใจ ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติไปแล้วว่าจะหาสถานที่ที่เหมาะสมให้กับอุเทนถวาย ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คงจะเชิญทั้ง 3 ฝ่ายจะมาพูดคุยกันเป็นทางการ
เมื่อถามว่า หากต่างฝ่ายต่างเห็นว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ใครจะเป็นผู้ชี้ขาด นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า เรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และใครก็มีสิทธิที่จะใช้ข้อความตอนหนึ่งตอนใดมาเป็นประวัติศาสตร์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาททางแพ่งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันก็ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งบุคคลและหลักฐาน จากจุฬาฯและอุเทนถวายอย่างรอบคอบแล้ว โดยได้ใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ปี ซึ่งน่าจะเป็นการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก