เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
นักวิจัย ชี้ แท็บเล็ต ม.1 เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมการเรียนการสอนที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำหน้าที่แทนครูได้
วานนี้ (12 กุมภาพันธ์) รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง หัวหน้าโครงการวิจัยนำร่องการประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับชั้น ม.1 เปิดเผยความคืบหน้าการวิจัยตามที่ได้รับมอบมาว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมมือกัน ทำการวิจัยผลสัมฤทธิ์การใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอน กระบวนการเรียนการสอน ความพึงพอใจผู้ใช้ และข้อดี ข้อเสียของแอนดรอยด์กับไอแพด มินิ เพื่อเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น
เบื้องต้น คณะวิจัยฯ ได้ข้อสรุปเรื่องการใช้งานแท็บเล็ต ม.1 จากการใช้วิธีสังเกตการณ์ สัมภาษณ์ และประเมินผลนักเรียนหลังการใช้แท็บเล็ต ใน 4 โรงเรียนนำร่องของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ โรงเรียนทวีธาภิเศก , โรงเรียนวัดราชาธิวาส , โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และ โรงเรียนหอวัง พบว่า แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนการสอน ที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างดี ทำให้เด็กรู้จักการวางแผน มีการตั้งสมมติฐาน ฝึกให้เด็กได้คิด มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น แต่ก็ยังพบปัญหาเรื่องระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และกรณีที่นักเรียนเกิดความเครียด คอเกร็ง นิ้วล็อกในการเล่นแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ๆ
อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยฯ ยังพบว่า ครู เป็นองค์ประกอบสำคัญในห้องเรียน เพราะครูเป็นผู้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ขณะที่แท็บเล็ตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการเท่านั้น ดังนั้น จะต้องมีการเตรียมพร้อมครูให้ดี เพื่อให้สามารถทำแผนการสอนที่จะนำแอพพลิเคชั่นมาประยุกต์ใช้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก