x close

ม.สงขลาเจ๋ง! ผลิตอุปกรณ์ช่วยส่องผ่าตัดโรคมือชาได้สำเร็จ

โรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในมือสำหรับช่วยผ่าตัด เพื่อรักษาอาการโรคมือชา ที่เกิดจากโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ

          วันนี้ (24 มกราคม) นพ.สุนทร วงษ์ศิริ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เผยว่า ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ประกอบด้วย ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ, รศ.นพ.บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช, ผศ.นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี, นพ.ปรเมศวร์ สุวรรณโณ, นพ.วราห์ ยืนยงวิวัฒน์ และนายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่งมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดภายใต้ชื่อ PSU Carpal Tunnel Retractor

นพ.สุนทร วงษ์ศิริ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

นพ.สุนทร วงษ์ศิริ

          โดยอุปกรณ์ดังกล่าวช่วยในการรักษาอาการโรคมือชา ที่เกิดจากโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาที่มือ บริเวณนิ้ว และปลายนิ้วมือ ซึ่งอาการของโรคนี้มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2-4 เท่า โดยอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ ประมาณอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีมีครรภ์ และหลังคลอดบุตร รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคไทรอยด์เป็นพิษ

          ทั้งนี้ การรักษาในแบบเดิมนั้น แพทย์จะให้ดมยาสลบ เพื่อทำการผ่าตัดประมาณ 60 นาที และมีแผลยาว 3-5 เซนติเมตร โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่ออีก 1-2 วัน และต้องทนเจ็บแผลนานอีก 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ที่แม้ว่าจะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพียง 1-2 เซนติเมตร แต่ต้องใช้เวลาผ่าตัด 30-60 นาที โดยต้องดมยาสลบ และหลังจากการผ่าตัดยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 1-2 วัน ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

โรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ

          สำหรับการใช้อุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดที่ประดิษฐ์ขึ้น และใช้เวลาผ่าตัดเพียง 8-15 นาทีต่อราย และมีบาดแผลจากการผ่าตัดเพียง 1.5-1.8 เซนติเมตร โดยใช้การฉีดยาชาแทนการใช้ยาสลบ ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลและสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้อเยื่อที่จะผ่าตัดได้ชัดเจน ทำให้การรักษาโรคมือชามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ซึ่งจากการทำการผ่าตัดรักษาเลาะพังผืดรัดข้อมือเพื่อรักษาผู้ป่วยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551- มกราคม 2552 จำนวน 14 ราย  พบว่า สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ครบทุกราย โดยไม่มีอาการของโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ การผ่าตัดโดยอุปกรณ์ดังกล่าว จะเข้ามาทดแทนการผ่าตัดในรูปแบบเก่า ทำให้แพทย์สามารถทำการผ่าตัดรักษาโรคมือชาได้เร็วขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการซื้ออุปกรณ์ผ่าตัดจากต่างประเทศ

โรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ

          อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดนี้สามารถผลิตได้ง่าย เนื่องจากใช้วัสดุสเตนเลส ต้นทุนต่ำราคาประมาณ 3,000 บาทต่อชิ้น และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งขณะนี้ทางทีมแพทย์ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว โดยการสนับสนุนการวิจัยโดยบริษัท แปซิฟิก เฮล์ธแคร์ จำกัด





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ม.สงขลาเจ๋ง! ผลิตอุปกรณ์ช่วยส่องผ่าตัดโรคมือชาได้สำเร็จ อัปเดตล่าสุด 24 มกราคม 2556 เวลา 20:20:00
TOP