เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอบคุณภาพประกอบจาก fr.wikipedia.org
ย้อนอดีตสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ที่สร้างความสะเทือนต่อระบบการเมืองการปกครองของยุโรป เปิดยุคใหม่สู่การเริ่มต้นรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ด้วยพลังสามัคคีของปวงชน
สังคมโลกในยุคปัจจุบันเป็นสังคมที่พรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยในการดำเนินชีวิตและรูปแบบการปกครองที่สนับสนุนในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เรียกได้ว่าเป็นผลผลิตที่เกิดจากการที่โลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาหลายต่อหลายครั้ง นับย้อนขึ้นไปตั้งแต่ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งได้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงรูปแบบของการผลิตเพื่อเศรษฐกิจของโลก และการปฏิวัติทางสังคมในหลายประเทศ แต่สำหรับการปฏิวัติทางสังคมที่นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นองเลือดที่สุด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมืองทั่วยุโรป พลิกยุโรปให้ก้าวสู่ยุคใหม่ ก็คงจะหนีไม่พ้น การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789
โดยเหตุการณ์ปฏิวัติในฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1789 หรือที่เรียกว่า “การปฏิวัติฝรั่งเศส” นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองครั้งสำคัญ ที่โค่นล้มระบบศักดินา โค่นล้มอำนาจการปกครองของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งให้อำนาจแก่ประชาชนขึ้นแทน ด้วยพลังของประชาชนผู้แร้นแค้นที่ลุกขึ้นมาปลดแอกตัวเองจากสังคมที่เสื่อมโทรมจนถึงขีดสุด
มูลเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศส
สำหรับการปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดจากปัจจัยหลายประการที่ประกอบเข้าด้วยกัน แต่หากจะแบ่งมูลเหตุที่นำไปสู่การปฏิวัติตามลำดับเหตุการณ์ในสังคมนั้น สามารถแบ่งว่าเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก ดังนี้
1. ปัญหาในด้านการปกครองที่สืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน
ฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นยังอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันมีกษัตริย์ของราชวงศ์ซึ่งมีพระราชอำนาจล้นพ้นเป็นผู้ปกครองประเทศ และจากสภาพสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้นออกเป็น 3 ฐานันดร คือ
ฐานันดรที่ 1 คือ พระและนักบวชในคริสต์ศาสนา
ฐานันดรที่ 2 คืน ขุนนางและชนชั้นสูง
ฐานันดรที่ 3 คือ สามัญชน
โดยทั้งฐานันดรที่ 1 และ 2 นั้นเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ ซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างหรูหราและสะดวกสบาย ซึ่งมีความขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับ สามัญชนในฐานันดรที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ยากจน รวมทั้งพวกชนชั้นกลาง เช่น พ่อค้า ช่างฝีมือ และปัญญาชน ฯลฯ และจากรูปแบบของสังคมเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดประเด็นปัญหา 2 ประการ คือ
1.1 ความเหลื่อมล้ำในสังคม
จากรูปแบบการปกครองที่มีการแบ่งชนชั้นฐานะ ทำให้ประชาชนผู้อยู่ในฐานันดรที่ 3 ถูกกดขี่จาก ราชวงศ์และกลุ่มชนชั้นสูงอย่างมาก ท่ามกลางการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูงผู้ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี พวกเขากลับต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าภาษีให้กับรัฐ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินภาษีเหล่านั้นก็ถูกละลายไปกับการออกรบและการใช้ชีวิตอย่างหรูหราของคนในพระราชวัง
1.2 ความเสื่อมโทรมของระบบการปกครอง
ด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้นไม่มีขอบเขตจำกัดและทรงอยู่เหนือกฎหมายของบ้านเมือง ทำให้ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI of France) ผู้ไม่สนพระทัยการบริหารบ้านเมือง ได้มีการใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชนหลายต่อหลายครั้ง ตามการชักจูงของเหล่าขุนนางผู้มุ่งหวังผลประโยชน์ นอกจากนี้ ด้วยอิทธิพลของพระนางมารี อองตัวเนตต์ (Marie Antoinette) พระราชินีชาวต่างชาติ ที่นอกจากจะไม่เป็นที่ต้อนรับของชาวฝรั่งเศสในยุคนั้นแล้ว ยังประพฤติตนไม่เป็นที่น่าเคารพ จนเกิดข่าวลือเสื่อมเสียมากมาย สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
2. ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน
2.1 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ
ฝรั่งเศสในยุคสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ประสบภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอย่างหนัก สืบเนื่องมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV of France) ทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยในราชสำนัก ทำให้เกิดปัญหาสั่งสมต่อมา รวมทั้งฝรั่งเศสยังเข้าไปพัวพันกับสงครามต่างชาติมากเกินไป ในสงครามประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกัน ระหว่าง ค.ศ. 1776 – 1781 ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเงินจำนวนมากไปเป็นค่าสงคราม
ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ออกนโยบายจัดเก็บภาษีอากรจากประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยรายจ่ายที่ต้องสูญเสียไปจากการทำสงคราม สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องรับภาระทางด้านภาษีที่ขูดรีดอย่างหนักแล้ว เศรษฐกิจในประเทศยังตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจากการบริหารด้านการเงินที่ผิดพลาดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทำให้ราคาของสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ราคาของขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของประชาชนก็พุ่งขึ้นสูง จนขนมปังเพียงชิ้นเดียวก็มีราคาเท่ากับค่าแรงทั้งเดือนที่ชาวบ้านหามาได้
และท่ามกลางประชาชนของประเทศที่กำลังอดอยาก เหล่าชนชั้นสูงผู้ซึ่งไม่ต้องแบกรับภาระด้านภาษีกลับยังคงใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ขณะที่พระนางมารี อองตัวเนตต์ ก็ยังสร้างหนี้สินและละลายเงินทองไปกับงานเลี้ยงสังสรรค์อันไม่รู้จบของเธอ สร้างความอึดอัดคับแค้นใจกับประชาชนเป็นอย่างมาก
2.2 การหลั่งไหลเข้ามาของแนวคิดจากต่างชาติ
ภายหลังจากที่อเมริกาทำสงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษจนสำเร็จ ก็ทำให้ประชาชนได้รับอิทธิพลแนวคิดด้านเสรีภาพ และได้เห็นแบบอย่างจากการที่ผู้ถูกกดขี่ได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบ ซึ่งสามารถทำได้โดยสำเร็จ อีกทั้งอิทธิพลด้านแนวคิดจากบรรดานักปรัชญากลุ่ม ฟิโลโซฟี (Philosophes) ในยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง ของ นักปรัชญาคนสำคัญคือ วอร์แตร์, จอห์น ล็อค, รุสโซ่ ก็ได้แผ่ขยายเข้ามาในฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนเกิดความนิยมในการคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงแค่รับสารในสิ่งที่ทางการแจ้งลงมาเพียงเท่านั้น
จุดเริ่มต้นของการ ปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 การจัดตั้งสภาแห่งชาติ
เมื่อประเทศฝรั่งเศสต้องประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงทรงเปิดประชุมสภาฐานันดร (Estates General) ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 เพื่อขอคะแนนเสียงจากตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาทางการคลัง ทว่าปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในการนับคะแนนเสียง โดยจะนับคะแนนจากฐานันดรที่ 3 ซึ่งมีจำนวนถึง 90% ของประชากรทั้งประเทศให้เป็นเสียงเพียง 1 ใน 3 ของสภา ทำให้คะแนนเสียงจากฐานันดรที่ 3 ไม่มีทางที่จะเหนือกว่าคนจาก 2 ฐานันดรแรกได้
จากความไม่ยุติธรรมนี้ทำให้ตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 ร้องขอให้มีการนับคะแนนเสียงแบบ 1 คน 1 เสียง แต่กลับถูกปฏิเสธ ทำให้ตัวแทนจากฐานันดรที่ 3 เกิดความไม่พอใจและลุกออกจากสภา ก่อนจะจัดตั้งสภาแห่งชาติ (National Assombly) ซึ่งเปิดประชุมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยมีตัวแทนจากฐานันดรที่ 1, 2 บางส่วนเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ตัวแทนส่วนใหญ่ของชนชั้นนักบวช และตัวแทนที่เป็นขุนนางหัวสมัยใหม่ซึ่งนำโดย ท่านเคานต์ กูร์ส มิราโบ
จากนั้นสมาชิกจากสภาแห่งชาติก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสภาฐานันดรซึ่งขาดความเป็นธรรม และไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1789 สภาแห่งชาติก็ได้ย้ายไปประชุมที่สนามเทนนิส และร่วมสาบานว่าจะไม่ยอมแพ้และไม่ยอมแยกจากกันจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ในการร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ฝรั่งเศส
เหตุการณ์บุกทำลายคุกบาสตีย์ (Bastille)
การที่กลุ่มฐานันดรที่ 3 ได้จัดตั้งสภาแห่งชาติขึ้นนี้ ได้ยิ่งเพิ่มความกดดันให้แก่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นอย่างมาก หลังจากที่เกิดความวุ่นวายอย่างต่อเนื่องในกรุงปารีส พระองค์ก็ทำการเรียกกองทหารที่จงรักภักดีต่อพระองค์จากต่างประเทศเข้ามาประจำการในกรุงปารีสและพระราชวังแวร์ซายส์ รวมทั้งยังทรงปลดนายเนคเกร์ ออกจากรัฐมนตรีคลัง สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวปารีสเป็นอย่างมาก
จากนั้นในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ประชาชนทั้งชาวนาและกลุ่มนายทุนก็ได้ออกมาก่อจลาจล ในพื้นที่ต่าง ๆ รอบกรุงปารีส และในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 และ ประชาชนร่วมกับทหารบางกลุ่มก็สามารถร่วมมือกันทำลายคุกบาสติล (Bastille) อันเป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมือง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจในการปกครองระบอบเก่า ลงได้ในที่สุด ทำให้วันที่ 14 กรกฎาคม ของทุกปี ได้ถูกถือเป็นวันชาติฝรั่งเศสมาจนถึงทุกวันนี้
จากชัยชนะในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุโรป จากอำนาจที่เคยอยู่ในมือของชนชั้นขุนนางและศาสนจักร ก็ได้กลับคืนสู่อำนาจพื้นฐานและสิทธิที่พลเมืองพึงมี อีกทั้งสภาแห่งชาติยังได้ประกาศให้ประชาชนทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน ยุติสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของฐานันดรที่ 1,2 ล้มเลิกสิทธิการงดเว้นภาษีของกลุ่มขุนนางและคณะสงฆ์ ทั้งยังได้ร่างคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ซึ่งได้ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2332 มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "เสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ"
จากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศสก็ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2332 ซึ่งแม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาฯ จะนิยมระบอบประชาธิปไตยโดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ไม่ได้มีบทบาทมากไปกว่าหุ่นเชิด ที่ถูกบังคับให้ปฏิญาณตนต่อรัฐธรรมนูญ และให้ยอมรับเงื่อนไขว่าเมื่อพระองค์กระทำการใด ๆ ที่จะชักนำให้กองทัพต่างชาติมาโจมตีฝรั่งเศส หรือ กระทำสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าพระองค์สละราชสมบัติโดยอัตโนมัติ
การต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างระบอบกษัตริย์และสาธารณรัฐดำเนินการอย่างเข้มข้น และขยายผลสะเทือนไปทั่วทั้งยุโรป จนในที่สุด วันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1793 พระเจ้าหลุยส์ถูกปลงพระชนม์ด้วยเครื่องกิโยตีนอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่าสะพรึงกลัวของยุคสมัยนั้น ด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์ทรยศต่อชาติ และในวันที่ 16 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระนาง มารี อองตัวเนตต์ ก็ถูกปลงพระชนม์ด้วยเครื่องกิโยตีน เช่นกัน
การปฏิวัติฝรั่งเศส กินระยะเวลาช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1789-1799 ในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ และหลังจากสถาปนาระบอบสาธารณรัฐได้สำเร็จไม่นานนัก ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นปกครองด้วยกันเอง กระทั่งในปี ค.ศ. 1799 นายพล นโปเลียน โบนาปาร์ต ก็ได้ยึดอำนาจจากคณะมนตรี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด นโปเลียนดำรงตำแหน่งกงสุลในปี ค.ศ. 1799 - ค.ศ. 1803 ก่อนที่จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
นับจากการปฏิวัติในครั้งนั้นจากนั้นฝรั่งเศสต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกหลายครั้ง สลับกันระหว่างแบบกษัตริย์ กับแบบสาธารณรัฐ มาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี การปฏิวัติครั้งฝรั่งเศสนั้นได้เป็นต้นกำเนิดความเท่าเทียมกันของชาวฝรั่งเศส แม้ว่าพวกเขาจะต้องหลั่งเลือดลงสู่ผืนดินแต่นั่นก็เพื่ออุดมการณ์ร่วมกันในการรวมพลังของประชาชนเพื่อสิทธิ และความอยู่รอดของประชาชนในประเทศ จนในที่สุดพวกเขาก็สามารถนำความหวังมาสู่ชีวิตของพวกเขาเองได้