เด็กไทยว่าไง? เมื่อกฎเหล็ก หัวเกรียน-สั้นเสมอติ่งหู ปิดฉากลง










เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เจาะข่าวเด่น โพสต์โดย เรื่องเล่า เช้านี้ สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม, เฟซบุ๊ก ต่อต้านผมเกรียน

            เรียกได้ว่าเป็นของขวัญวันเด็กที่ถูกใจเหล่านักเรียนหลายคนเลยทีเดียว สำหรับการที่กระทรวงศึกษาธิการออกมาประกาศยกเลิกกฎการตัดผมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่นักเรียนชายต้องตัดผมเกรียน ส่วนนักเรียนหญิงต้องผมสั้นเท่าติ่งหูเท่านั้น งานนี้ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างมากมาย

            ทั้งนี้ รายการเจาะข่าวเด่น (10 มกราคม) ก็ขอพากลุ่มนักเรียนที่เป็นแอดมินเฟซบุ๊ก "ต่อต้านผมเกรียน" พร้อมกับนักเรียนที่คัดค้านการยกเลิกกฎระเบียบทรงผมนี้ มาร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย

            นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ม.4 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แอดมินเฟซบุ๊ก ต่อต้านผมเกรียน

            นายปราชญ์ ญาณสิทธิ  แอดมินเฟซบุ๊ก ต่อต้านผมเกรียน

            นายกฤษณะ ผลฉาย นักเรียนชั้น ม.6 โรวเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

            นายสิรวิชญ์ บุญสร้าง

            นางสาวลดา ภูพัฒน์ ประธานนักรีเยน โรงเรียนสตรีวิทยา

            นางสาวสุทัศนีย์ สุวรรณเรืองศรี ประธานนักเรียน โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว



            เริ่มต้นด้วยความคิดเห็นของ นายเนติวิทย์ แอดมินต่อต้านผมเกรียน ว่าด้วยเรื่องของกฎระเบียบการตัดผมเกรียนของเด็กชั้น ม.ต้น ว่า ผมเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกายมนุษย์ที่เจ้าของมีอำนาจในการกำหนดสิทธิเด็ดขาดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบทรงผมในโรงเรียน หรือระเบียบในโรงเรียน ทั้งนี้หากจะกำหนดระเบียบใด ๆ ก็ควรถามนักเรียน ให้นักเรียนกำหนดทิศทางของกฎระเบียบร่วมกัน ไม่ใช่ว่าจะกำหนดระเบียบอะไรก็กำหนด แบบนี้มันเรียกว่าเผด็จการ ส่วนในเรื่องทรงผมนั้น ตนอยากจะให้ผู้ใหญ่ให้อิสระในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด อยากไว้ทรงไหนก็ไว้ ทั้งนักเรียนหญิง นักเรียนชาย เพราะผมก็เป็นผมของเขา ความคิดก็เป็นความคิดของเขา


            ขณะที่ นางสาวลดา ภูพัฒน์ กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า... การที่โรงเรียนมีกฎระเบียบใด ๆ ออกมาเปรียบเหมือนกุศโลบายที่สอนให้นักเรียนมีระเบียบวินัยตั้งแต่ในโรงเรียน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร เพราะเมื่อโตขึ้นเราต้องอยู่ในสังคม และต้องเคารพกฎสังคมเช่นกัน นอกจากนี้ การไว้ผมยาวหรือทำผมทรงอะไรก็ได้ ทำให้นักเรียนต้องมาพะวงเรื่องทรงผมมากกว่าโฟกัสเรื่องการเรียน



            ส่วนทางด้าน นายกฤษณะ ผลฉาย ระบุว่า ตนคิดว่าผมของเขาก็คือของเขา อยากให้มองว่าคนผมที่ไว้ผมยาวไม่ใช่คนไม่ดีเสมอไป และคนผมสั้นก็ไม่ใช่คนดีเสมอไป การที่จะวัดว่าใครเป็นคนแบบไหน ตั้งใจเรียนหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับทรงผม ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่ามันเป็นการบั่นทอนการศึกษาเลยทีเดียว เพราะบางคนก็ไม่อยากมาโรงเรียนเนื่องจากมาต้องโดนตัดผม ถูกบังคับให้ตัดผม หรือถูกก้อนผม



            ด้าน นางสาวสุทัศนีย์ สุวรรณเรืองศรี กล่าวว่า ตนคิดว่าผมสั้นของเด็กมัธยมต้น เป็นเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย และหากมีการไว้ผมยาว หรือปล่อยให้ทำผมทรงอะไรก็ได้นั้น เด็กนักเรียนก็โฟกัสแต่เรื่องความสวยความงาม เรื่องเพศตรงข้าม และแน่นอนจะส่งผลกระทบต่อการเรียนตามมา



            ต่อกันด้วยความเห็นของ นายสิรวิชญ์ บุญสร้าง เผยว่า เราต้องการอิสระ แต่อิสระในที่นี้ก็ต้องมีขอบเขต ซึ่งในเรื่องทรงผมหัวเกรียนนั้น ตนอยากให้เลิกไปเลย และเชื่อว่าเด็กนักเรียนและคนคิดเป็น คงไม่มีใครจะทำโมฮ็อก เอฟโฟร่ หรือแนวเอ็กซตรีมขนาดนั้นมาเรียน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียนก็ไม่เกี่ยวกับทรงผม เพราะผมสั้นก็แต่งสวย มีเรื่องเพศตรงข้ามได้เหมือนกัน



            เมื่อถามถึงเรื่องระเบียบวินัยในสังคม ว่าการตัดผมสั้นเป็นการฝึกวินัยให้กับเด็ก ที่จะต้องเติบโตขึ้นไปให้ใช้กฎในสังคมร่วมกันนั้น นายปราชญ์ ณาญสิทธิ กล่าวว่า เรื่องทรงผมมันไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงวินัย ไม่ใช่ว่าเขาไว้ผมยาวแล้วโตขึ้นไปเขาจะไม่มีระเบียบวินัย หรือไม่เคารพกฎสังคม

            ทางด้าน นางสาวลดา ก็ได้กล่าวถึงเรื่องระเบียบวินัยอีกครั้งว่า เมื่อเราตั้งใจที่จะเรียนโรงเรียนนั้น ๆ แล้ว และได้มีการเซ็นลงนามทำข้อตกลงในโรงเรียนดังกล่าว เราก็ควรจะเคารพกฎของโรงเรียนที่ตั้งไว้ และครูในโรงเรียนก็ไม่ใช่ครูติวเตอร์ เพราะเขาไม่ได้สอนแค่วิชาการ แต่สอนรวมไปถึงจิตพิสัย กฎระเบียบ การข่มจิตใจ และการเคารพกฎในสังคมเช่นกัน

            พอกล่าวถึงเรื่องกฎในสังคม ด้าน นายเนติวิทย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ต่อจากนี้ประเทศไทยก็ต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ทุกประเทศเขาก็เลิกกฎต่าง ๆ กันหมด และก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย ...ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา เขาก็ไม่มีระเบียบในเรื่องทรงผม แต่เขาก็จบมาเป็นคนที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะฉะนั้นตนคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบในเรื่องนี้

            ส่วนข้อที่บอกว่าเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ตนมีความเห็นว่าในเมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่สากล หากยึดติดกับเอกลักษณ์ของตัวเราอยู่ มันก็ไม่สามารถเป็นสากลได้ ถ้าถามถึงเรื่องวัฒนธรรม มันใช่วัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ของไทยแท้ ๆ หรือเปล่า ถ้าแท้ ๆ ต้องทรงมหาดไทย ซึ่งวัฒนธรรมมันไม่หยุดนิ่ง มันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ส่วนตอนนี้เป็นยุคของประชาธิปไตย ไม่ใช่ยุคเผด็จการสมัย จอมพล ป. ที่ต้องบังคับให้นักเรียนตัดผมสั้นเกรียนขนาดนี้ และตนคิดว่านักเรียนไทยมีมันสมอง สามารถคิดเองได้ จะตัดผมทรงโมฮ็อก หรือทรงเอฟโฟร่ ก็เรื่องของเขา ตนจึงอยากให้ยกเลิกกฎทรงผมไปเลย ไม่ใช่ยอมให้ไว้ทรงรองทรงเท่านั้น อยากมอบสิทธิในการไว้ทรงผมกับเขาเลย...



 
            ทางด้าน นางสาวลดา กล่าวต่อว่า ต่อไปอีก 10 ข้างหน้าเราจะไม่ถวิลหาผมทรงนี้เหรอ... ทรงผมนักเรียนเป็นเอกลักษณ์ในการเข้าสังคมที่บอกให้ทุกคนรู้โดยไม่ต้องถามว่าเราเป็นนักเรียน และต่อจากนี้ไป ตนเชื่อว่าจากเรื่องทรงผม ก็ต้องมีข้ออ้างในการไม่สวมชุดนักเรียน ซึ่งข้ออ้างเมื่อมันมีมาก มันก็จะกลายเป็นเหตุผลไปเลย

            ด้าน นายเนติวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า.. ถ้าหากถวิลหาทำไมไม่ถวิลหาทรงมหาดไทย หรือทรงไว้จุก เรื่องเอกลักษณ์ของนักเรียนก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีวันสิ้นสุดเหมือนกัน...
 






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กไทยว่าไง? เมื่อกฎเหล็ก หัวเกรียน-สั้นเสมอติ่งหู ปิดฉากลง อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2556 เวลา 11:39:00 4,366 อ่าน
TOP
x close