เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เว็บไซต์อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนสไทม์ รายงานผลการจัดอันดับประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุด 50 ประเทศทั่วโลก จัดทำโดยสถาบัน Economist Intelligence Unit หรือ EIU ซึ่งผลปรากฏว่า ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา รั้งอันดับที่ 17 ตามหลังหลายประเทศในแถบสแกนดิเนเวียและประเทศในเอเชีย ที่สามารถขึ้นเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้ ในขณะที่ประเทศไทย คว้าอันดับที่ 36 มาครอง
ทั้งนี้ ประเทศฟินแลนด์และเกาหลีใต้ ต่างคว้าอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ด้านฮ่องกง ก็อยู่ในอันดับที่ 3 ญี่ปุ่นอันดับที่ 4 และสิงคโปร์อันดับที่ 5 ในขณะที่สหราชอาณาจักร อยู่ที่อันดับ 6 ตามมาด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนแคนาดาอยู่อันดับ 10 ตามมาด้วยไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก
ด้านประเทศออสเตรเลีย โปแลนด์ เยอรมนี และเบลเยี่ยม ต่างติด 1 ใน 20 อันดับแรก ส่วนประเทศที่ถูกจัดอันดับรั้งท้าย 50 อันดับนั้น ได้แก่ เม็กซิโก บราซิล และ อินโดนีเซีย
รายงานระบุว่า การจัดอันดับดังกล่าวประเมินจากการรวบรวมผลการสอบวัดระดับนานาชาติ อาทิ อัตราผู้รู้หนังสือ และ อัตราผู้จบการศึกษา ระหว่างปี 2006-2010 ซึ่งผู้ประเมิน ได้ประเมินจากข้อมูลทางการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งทางด้านปริมาณการศึกษา เช่น จำนวนเงินที่ลงทุนให้กับเด็กแต่ละคน และจำนวนเด็กในห้องเรียน รวมทั้งด้านคุณภาพทางการศึกษา เช่น ระดับการศึกษาของแต่ละโรงเรียน นำมารวบรวมและตรวจสอบเข้ากับ พัฒนาการในด้านการเรียนรู้ของนักเรียน ไปจนถึงการเติบโตของจีดีพี
จากรายงานประกอบการจัดอันดับนี้ ชี้ว่า การจัดสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม ให้ส่งเสริมการเรียนการสอนนั้น มีความสำคัญมากกว่าจำนวนเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนในการศึกษา ซึ่งความสำเร็จของเหล่าชาติต่าง ๆ ในเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงว่า ทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อการศึกษานั้น เป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการศึกษาของแต่ละชาติ หากชาติใดให้ความสำคัญกับการศึกษา และคนในสังคมนั้น ๆ ส่งเสริมด้านการศึกษา ประเทศเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นประเทศที่มีการศึกษาอันทรงประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผลการวิจัย ยังให้ความสำคัญกับบทบาทของ ครูผู้สอน ในการมีส่วนช่วยปรับปรุงการศึกษา การที่มีครูที่ดี ไม่ใช่แค่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในทางสถิติอย่างเดียว แต่ในแง่ของสังคมก็มีผล เช่น ครูที่ดีจะช่วยลดโอกาสที่เด็กจะตั้งครรภ์ในวัยเรียน อย่างไรก็ตาม ตามรายงานดังกล่าวนั้น ไม่มีการระบุว่า ครูที่ดี ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง