เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผลการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ยังเป็นแชมป์เก่า - ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีของไทยเป็นแห่งเดียวที่เข้ารอบ มหิดล-จุฬาฯ หลุดโผ
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เว็บไซต์ timeshighereducation.co.uk ได้เปิดเผยผลการสำรวจ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2012-2013 (พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2556) ปรากฏว่า แชมป์ยังเป็นของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) จากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400
สำหรับ มหาวิทยาลัยที่ติดอยู่ในอันดับ 1-5 ของโลกจากการจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings ในปีนี้ ได้แก่
1. สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) จากสหรัฐอเมริกา
2. มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) จากสหราชอาณาจักร
3. มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) จากสหรัฐอเมริกา
4. มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) จากสหรัฐอเมริกา
5. สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ เอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology : MIT) จากสหรัฐอเมริกา
ส่วนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียมีถึง 57 แห่งที่ติดอยู่ในการจัด 400 อันดับ โดย 5 อันดับแรกได้แก่
1. มหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น ติดอันดับที่ 27
2. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ติดอันดับที่ 29
3. มหาวิทยาลัยฮ่องกง ติดอันดับที่ 35
4. มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน ติดอันดับที่ 46
5. มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโปฮังของเกาหลีใต้ ติดอันดับที่ 50
ขณะที่ประเทศไทยนั้น มีเพียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือที่รู้จักในชื่อ บางมด ติดอันดับเพียงแห่งเดียว โดยถูกจัดอันดับให้เป็น สถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดของโลกอันดับที่ 389 ของโลก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า การจัดอันดับเมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554) มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 306 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 341 แต่ในปีนี้ไม่มีรายชื่อของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งแต่อย่างใด
โดยทางด้าน นายเชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มจธ. เปิดเผยว่า มจธ. เข้าสู่การจัดอันดับของ Times Higher Education World Rankings เป็นครั้งแรก เท่าที่ดูน่าจะเป็นเพราะปริมาณงานวิจัยของ มจธ. มีค่อนข้างมาก แม้จำนวนไม่มากเท่ากับมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เช่น จุฬาฯ และ มหิดลที่มีขนาดใหญ่กว่า มจธ. 2-3 เท่า แต่เมื่อนำจำนวนบุคลากรมาหารกับจำนวนงานวิจัยจะพบว่า มจธ. มีจำนวนงานวิจัยมากกว่า แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนเรื่องงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยนั้น ยอมรับว่าถ้ารอจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงลำบาก โดยงบฯ วิจัยส่วนหนึ่งมาจากงานบริการทางวิชาการและภาคเอกชนที่สนับสนุน ถึง 1 ใน 3 ของงบฯ ทั้งหมด
นอกจากนี้ นายเชาวลิต ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เป็นเพียงกระจกเงาสะท้อนสถานภาพของมหาวิทยาลัยไทยในเวทีโลก แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องพัฒนามากกว่าคือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเร่งพัฒนางานวิจัย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก