x close

นวัตกรรมทางเกษตรเพื่อการผลิตข้าวอินทรีย์





นวัตกรรมทางเกษตรเพื่อการผลิตข้าวอินทรีย์

          นักวิจัยเกษตรศาสตร์ มช. เปิดเผยงานวิจัยนวัตกรรมทางเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยของภาคเหนือในการผลิตข้าวอินทรีย์

          อ.ดร.บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและส่งเสริมเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย "นวัตกรรมทางเกษตรที่สนับสนุนระบบผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อยภาคเหนือ" (Agricultural innovation in supporting organic rice production system of small holder farmers in Northern Thailand) กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จากโครงการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ ปี 2554

          โครงการวิจัยนวัตกรรมทางเกษตรฯ เน้นที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทางสังคมในการผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ราบลุ่มเชียงใหม่ ให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมการผลิต โดยเฉพาะองค์ความรู้ของชาวบ้านและนวัตกรรมเชิงสถาบัน ได้แก่ การพัฒนาเครือข่าย กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างกลุ่มด้านการผลิตด้านอินทรีย์ เน้นการลดการใช้สารเคมีโดยเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนโยบายสนับสนุนให้เป็นจังหวัดอาหารปลอดภัย

          งานวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ในระบบภูมินิเวศน์เกษตรต่าง ๆ สังเคราะห์เทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรและผลกระทบและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อยกระดับการเรียนรู้เชิงสังคมและการขยายผล แนวทางการศึกษาประกอบด้วย รูปแบบต่าง ๆ ของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก การประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการสังเกตภาคสนาม ซึ่งในกระบวนการวิจัยได้กระตุ้นให้เกิดการสะท้อนกลับของเกษตรกร และการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีพื้นที่ศึกษาใน 4 อำเภอภาคเหนือตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.พร้าว และอ.เชียงดาว

          อ.ดร.บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการศึกษาวิจัยว่า เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีรูปแบบการผลิตกระจายการผลิตและวัตถุประสงค์ คือ ชุมชนชนเผ่าบนที่สูง มีระบบการปลูกข้าวที่ปลอดภัย ปลอดสารเคมี และอินทรีย์ อาศัยพันธุ์ข้าวนาท้องถิ่นที่ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมบนที่สูง

           สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ราบลุ่มที่มีระบบชลประทานเกื้อหนุน ได้ผลิตข้าวอินทรีย์สำหรับตลาดภายในประเทศ ระบบการผลิตในฟาร์มจะผลิตพืชไม่หลากหลาย และมีระบบข้าว-ถั่วเหลืองเป็นหลัก ในพื้นที่ราบลุ่มที่มีชลประทานเป็นบางส่วน ระบบอินทรีย์จะถูกปลูกฝังและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเกษตรกร ซึ่งจะดำเนินการผลิตแบบอินทรีย์อย่างเข้มข้น ในระบบฟาร์มที่มีการกระจายการผลิต เพื่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ ทำการผลิตข้าวอินทรีย์และพืชผักตามฤดูกาล สำหรับตลาดท้องถิ่นเฉพาะ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ราบลุ่มจะเลือกปลูกพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และหรือมีคุณภาพสูง เช่น ข้าวมะลิแดง ข้าวหอมนิล ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวก่ำ โดยทำการแปรรูปเป็นข้าวกล้อง หรือข้าวกล้องงอก ส่งไปยังตลาด

          ในส่วนของเกษตรกรในพื้นที่ราบลุ่มได้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 1-10 ปี ส่วนใหญ่พบว่า ผลผลิตข้าวลดลง ร้อยละ 20-30 ในระยะปรับเปลี่ยน ช่วง 3 ปีแรก แต่ก็ได้รับการชดเชยด้วยราคาที่สูงขึ้น โดยเกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ข้าวบนฐานของความต้องการของเกษตรกร และความสามารถในการปรับตัวของพันธุ์ข้าวต่อสภาพการเจริญเติบโตของท้องถิ่น เกษตรกรบางรายได้ขยายการผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วยตนเอง ด้วยการคัดรวงแบบรวม สำหรับเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์เชิงพาณิชย์ ซื้อเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกรที่เป็นโบรกเกอร์ในระบบพันธะสัญญา 

          ด้านการดูแลทางการเกษตรนั้น เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพประเภทต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ปุ๋ยคอกและน้ำสกัดชีวภาพ ด้วย EM การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีกล เช่น การจับด้วยมือ การปรับระดับน้ำในการควบคุมหอยเชอรี่ และการใช้สารสกัดจากพืชและสมุนไพรที่ได้จากเมล็ดและใบสะเดา ใบน้อยหน่าในการควบคุมเพลี้ย เป็นต้น และเมื่อถึงฤดูแล้ง (นาปรัง) การปลูกข้าวนาหยอดในที่ดินที่ไม่ต้องทำเทือกได้แสดงผลที่มีประสิทธิภาพในการลดค่าแรงงานประมาณร้อยละ 50 ในขณะเดียวกันสามารถรักษาระดับผลผลิตได้เท่าเดิม

          สำหรับแรงจูงใจที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ คือ แรงจูงใจด้านราคา ซึ่งส่งผลตามมาที่สังเกตได้หลังจากการปรับเปลี่ยนเป็นอินทรีย์ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพทางเกษตรในพื้นที่นา ที่สามารถบริโภคได้ พร้อมทั้งยังลดความเสี่ยงจากสารเคมี และลดต้นทุนของปัจจัยการผลิตของเกษตรกรด้วย

          จากการวิจัยยังพบเงื่อนไขบางประการที่จำเป็นสำหรับการขยายผลระบบข้าวอินทรีย์ ได้แก่ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีการพัฒนาด้านตลาดและข้อมูล ระบบมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนการผลักดันนวัตกรรมเชิงสถาบันหรือการสร้างเครือข่ายในระดับต่าง ๆที่เชื่อมกับเครือข่ายเกษตรกร

          งานวิจัย "นวัตกรรมทางเกษตรที่สนับสนุนระบบผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อยภาคเหนือ" สรุปได้ว่า 

          1. ความยั่งยืนของข้าวอินทรีย์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่สัมพันธ์กัน เช่น เทคโนโลยี กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การติดตาม และการสืบสาวถึงแหล่งผลิตและความเชื่อถือของผู้บริโภค 

          2. นวัตกรรมและองค์ความรู้ของเกษตรกรมีการปรับตัวตลอดเวลา ที่สอดคล้องกับสภาพนิเวศน์ กายภาพ เศรษฐกิจและสังคม ดังตัวอย่างพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์การผลิตปลอดสาร การผนวกความหลากหลายชีวภาพในระบบการผลิตและการตลาด การใช้เทคโนโลยีที่ลดต้นทุนด้านแรงงงาน เช่นการผลิตข้าวนาหยอดอินทรีย์ การทำข้าวนาหว่านอินทรีย์ การใช้สารสกัดชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรประยุกต์ใช้พืชหรือวัสดุที่หาได้ จากการพึ่งตนเองเพื่อลดภาระด้านต้นทุน การใช้กลุ่มและเครือข่ายในการพัฒนาตลาดและช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น 

          อ.ดร.บุศรา กล่าวในต้อนท้ายว่า สิ่งที่ท้าทายในอนาคต คือ การผนวกความหลากหลายชีวภาพทางเกษตรในห่วงโซ่มูลค่าของข้าวอินทรีย์ และการปรับปรุงกลไกตลาดที่สร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรรายย่อย การสร้างนโยบายสนับสนุนที่กระตุ้นเกิดการขยายผลในการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยให้เห็นคุณค่าในกระบวนการผลิตเข้าไปในระบบไม่ใช่เพียงแต่การกระตุ้นให้เกิดการขยายในทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นวัตกรรมทางเกษตรเพื่อการผลิตข้าวอินทรีย์ โพสต์เมื่อ 19 กันยายน 2555 เวลา 17:15:39 3,236 อ่าน
TOP